ผู้เขียน ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งมีหัวข้อ “Soft skills ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” โดยมี รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา ให้เกียรติเป็นวิทยากร ท่านนำแนวคิด Humanitude มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งผู้เขียนขอสรุปแนวคิดนี้ให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
Humanitude เป็นแนวคิดทางมานุษยวิทยา (Anthropology) เป็นศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นจากการผสมของคำสองคำ คือ human และ attitude โดย Yves Gineste อาจารย์สอนพลศึกษาชาวฝรั่งเศส ซึ่ง Yves Gineste ร่วมกับ Rosettette Marescotti ได้ประยุกต์ใช้แนวคิดนี้ในการพยาบาล โดยในปรัชญาหรือแนวคิด Humanitude หรือ แนวคิด “ความเป็นมนุษย์” มีพื้นฐานที่ว่าคนเราจะดำรงชีวิตในฐานะมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อคนที่อยู่ด้วยกันนั้นยอมรับทุกคนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีอารมณ์ ความรู้สึก ค่านิยม ความเชื่อ ความคิดเห็น และบุคคลิกลักษณะส่วนตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ แนวคิด Humanitude จึงสามารถนำมาใช้ในการดูแลที่ไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ป่วยด้วยภาวะสมองเสื่อมเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ในการดูแลบุคคลอื่นได้อีกด้วย เพราะเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ด้วยวิธีการดูแลที่แสดงถึงการทะนุถนอมความทรงจำที่มีร่วมกัน การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างอ่อนโยน ให้ความสำคัญและคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของกันและกัน จึงเป็นการบำบัดดูแลที่ไม่ต้องการยาขนานใด (non-pharmacological intervention) ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต (quality of life) และความผาสุก (well-being) ของทั้งผู้ให้และผู้รับการดูแล ซึ่งมีการนำแนวคิดนี้ประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย
การดูแลตามแนวคิด Humanitude
ยึดหลักการดูแลด้วยความรัก ความเข้าใจและเคารพในศักดิ์ศรีของ ผู้สูงอายุ โดยผ่านองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบด้วยกันคือ
1) การสบตา เป็นการสื่อสารที่ถ่ายทอดความรู้สึกผ่าน ทางสายตาที่แสดงให้เห็นถึงการแสดงความรัก ความห่วงใย
2) การพูด คือ การสื่อสารด้วยวาจา การมีปฏิสัมพันธ์ทางวาจากับผู้รับบริการ เพื่อเป็นการแสดงว่าผู้ดูแลหรือผู้ให้บริการให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ
3) การสัมผัส คือ การสื่อสารแบบอวัจนภาษา ใช้การสื่อสารผ่านทางร่างกายเพื่อถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกไปยังผู้รับบริการ
4). การจัดท่าในแนวตั้งตรง คือ การจัดท่า ให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายจากท่านอนเป็นท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายเพิ่มการไหลเวียนโลหิตที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งสมอง
การประยุกต์ใช้แนวคิด Humanitude เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบความสำเร็จ
เราอาจประยุกต์ใช้โดยยึด 4 องค์ประกอบหลักของแนวคิด Humanitude ได้แก่
1. การสบตา ขณะที่พยาบาลให้การดูแลมารดาและทารก พยาบาลควรเริ่มจากการสร้าง สัมพันธภาพที่ดีกับผู้รับบริการ ฝึกทักษะการสื่อสารด้วยการสบตา ส่งความรู้สึกผ่านทางสายตาโดยใช้สายตาอบอุ่น อ่อนโยน และส่งเสริมการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างมารดาและทารกผ่าน
2. การพูด หรือการสื่อสารด้วยวาจา พยาบาลควรฝึกทักษะการสื่อสารด้วยวาจาด้วยการ พูดที่ใช้โทนเสียงต่ำ น้ำเสียงนุ่มนวล อ่อนโยน พูดในลักษณะการปลอบประโลม ให้กำลังใจ พยาบาลยังควรส่งเสริมการสื่อสารด้วยวาจาระหว่างมารดาและทารก ใช้ระดับน้ำเสียง (tone of voice) ที่อ่อนโยน เพื่อกระตุ้นให้ทารกเกิดความรู้สึกสงบ สบาย และรู้สึกมั่นใจ การร้องเพลงด้วยน้ำเสียงสูงๆต่ำๆ โทนเสียงที่นุ่มนวลหรือเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก
3. การสัมผัส พยาบาลควรฝึกทักษะการสัมผัส โดยการวางฝ่ามือด้วยน้ำหนักมือที่พอดี กาง นิ้ว มือออกและลูบเป็นบริเวณกว้าง ใช้การประคอง การสัมผัสเริ่มจากบริเวณที่มีประสาทการรับรู้น้อย ที่สุดไปมากที่สุดคือ หลัง แขน ขา เท้า มือ และใบหน้า ใช้การสัมผัสที่นุ่มนวลอ่อนโยน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ พยาบาลควรส่งเสริมให้แม่สัมผัสลูกขณะให้นมลูก อุ้มลูก รวมถึงกิจกรรมอื่นๆอีกด้วย เช่น ขณะอาบน้ำ เป็นต้น
4. การจัดท่าในแนวตั้งตรง เป็นการจัดท่าเพื่อให้แม่ให้นมลูก จัดเป็นภาษากาย (body language) ดังนั้น พยาบาลควรคำนึงถึงการจัดท่าให้ทั้งมารดาและทารกรู้สึกผ่อนคลายและสุขสบาย ท่าทางที่ดีในการให้นมแม่ คือ ลำตัวแม่งอเล็กน้อย ถ้าแม่ต้องก้มมากหรือโน้มตัวมากระหว่างให้นม ควรหาหมอนช่วยรองปรับระดับลำตัวลูกศีรษะของลูกควรอยู่ในแนวเดียวกับลำตัวลำตัวของลูกหันเข้าหาเต้านม
การส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จนั้น แม่ต้องการการสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ เฉพาะแต่จากครอบครัวเท่านั้น แต่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทั้งระบบบริการสุขภาพ โดยแนวคิด Humanitude นี้จะส่งผลต่อเจตคติของมารดาที่มีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง และความเข้าใจที่ถูกต้องของมารดาว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้หรือไม่ ช่วยส่งเสริมให้มารดามีแรงกายแรงใจที่ดี รู้สึกมีคุณค่าในตนเอง สามารถปรับตัวเข้ากับบทบาทของมารดาที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดียิ่งขึ้น จึงทำให้ลดปัญหาด้านจิตใจที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลงได้ อันจะส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามมาได้
เอกสารอ้างอิง
1 กรรณิการ์ ศุภชัย. Humanitude: การประยุกต์ ในการดูแลผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อม. วารสารการปฏิบัติการพยาบาลและการผดุงครรภ์ไทย 2560; 4(2): 95-9.
2 กุสุมา ชูศิลป์.การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับพัฒนาการของสมอง. https://thaibf.com/wp-content/uploads/2017/07/2
3 เสาวนีย์ เปรมทอง จิราพร เกศพิชญวัฒนา. ผลของการให้การดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูดโดยผู้ดูแลในครอบครัว ต่อภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง. ปีที่ 19 ฉบับพิเศษ กันยายน - ธันวาคม 2561. หน้า 221-230.
4 Phaneuf M. The concept of humanitude as applied to general nursing care. [Internet]. [cited 2016 November 14] Available from: http://www.infiressources. ca/.../the_concept_of_humanitude.
เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.ธัญลักษณ์ บรรลิขิตกุล
พยาบาลวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร
แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.