เด็ก พูดเมื่อไร?
สงสัยไหมคะว่า จากทารกที่นอนได้แต่ส่งเสียงร้องไห้ เขาเติบโตขึ้นมาจนพูดกับเราได้เมื่อไร?
สมองน้อยๆของทารกมีกลไกมหัศจรรย์อะไรหรือ ที่ทำให้เปล่งเสียงพูดออกมาได้ในเวลา 2ปีแรกของชีวิต
เด็กเขาไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆก็พูดขึ้นมาได้เอง เขาต้องเก็บรับข้อมูลเข้าไปก่อน สะสมไปเรื่อยๆ เหมือนสะสมทรัพย์สมบัติ คือทีละน้อยค่อยๆเก็บค่ะ
ข้อมูลอะไรล่ะที่เด็กเก็บเข้าคลังสมอง?
เสียงที่เขาได้ยินไงคะ
เสียงคนพูดคุยกัน เปรียบได้กับดนตรี คำพูดแต่ละคำคือตัวโน้ต
เวลาเราร้องเพลง เราฟังเสียงร้องกับดนตรี หรือเราร้องตามโน้ตที่เขียนไว้คะ?
ส่วนใหญ่เราฟังใช่ไหมคะ ฟังบ่อยๆ ฟังด้วยความสบายใจ จนท่วงทำนองดนตรีมันซึม เข้าไปในสมองเองโดยไม่รู้ตัว แล้วพอฟังได้ที่ จะเริ่มฮัมทำนองตาม ต่อมาคือร้องตาม แล้วก็ร้องเองได้ (ร้องเพราะไม่เพราะก็อีกเรื่องหนึ่ง)
การพูดของเด็กก็เช่นเดียวกันค่ะ
ทารกเล็กๆเขาจะฟัง และจับเสียงพูดคุยระหว่างพ่อแม่กับเขาเอง ฟังในภาพรวม เหมือนเราฟังท่วงทำนองเพลง ส่วนคำพูด เหมือนกับตัวโน้ต ที่มาร้อยเรียงเป็นประโยค หรือเป็นเพลง
ฟังบ่อยๆเข้า ก็จะอือออ ทำเสียงสูงๆต่ำๆตามจังหวะการพูดก่อน อายุ1ปีขึ้นไปก็จะเริ่มออกเสียงตามคำหลัง แต่จะหมายความถึงทั้งประโยค
เช่น “หม่ำ “ แปลว่า “หิว..อยากกินแล้ว”
การได้ยิน และการออกเสียง:
ศูนย์กลางในสมองที่เกี่ยวกับ พัฒนาการทางภาษา
ระบบการได้ยิน
หู เป็นอัจฉริยะทางดนตรี (Musical Genius) ซึ่งประกอบด้วย หูชั้นในสุดที่มีลักษณะขดเป็นก้นหอย ข้างในมีสายพิณเล็กๆ 64 สายขึงอยู่ พอมีเสียงตกกระทบก็จะสั่นสะเทือน ส่งสัญญาณไปที่สมองส่วนกลาง
ด้านหน้า”พิณ” ก้นหอยนี้เป็นแผ่นบางๆ เหมือนหนังขึงหน้ากลอง เสียงที่ผ่านรูหู เข้ามาก็จะกระทบแผ่นนี้ ส่งความสั่นสะเทือนไปยัง กระดูกเล็กๆ 3 ชิ้น - ค้อน ทั่ง โกลน ที่ไปต่อกับก้นหอย
ระบบการได้ยิน พัฒนาได้ดีตั้งแต่ทารกในครรภ์อายุ 7 เดือนขึ้นไป ถ้าคลอดหลังจากนี้ หูก็พร้อมจะรับฟังเสียงแล้วค่ะ
พัฒนาการ การพูด
เริ่มตั้งแต่แรกคลอดใหม่ๆเลยค่ะ
ใน 2 เดือนแรก สายตาลูกจะจับจ้องมองปากแม่อย่าง พิศวงงงงวยว่า ริมฝีปากแดงที่ขยับไปมานี้ ทำให้เกิดเสียงเปล่งออกมาได้อย่างไร
เอาล่ะ! ฉันจะลองขยับปากตามดูซิ
แรกๆเสียงยังไม่ออกมา แต่เวลาผ่านไปจนประมาณอายุ 2 เดือน ทารกจะเริ่มจีบปากจีบคอคุยแล้วค่ะ “อือ ออ อา อู” เรียกว่า คุย “อ้อแอ้” พร้อมกับส่งยิ้มหวาน
อายุ 4 เดือน จะเริ่มหัวเราะเสียงดัง
อายุ 6 เดือน ส่งเสียงที่ใช้ริมฝีปากออกเสียง เช่น
ปาปา มามา สังเกตว่า ไม่ว่าภาษาไหน คำที่ใช้เรียกพ่อแม่ จะเป็นเสียงกลุ่มนี้ทั้งนั้นค่ะ เพราะ ออกเสียงได้ง่ายที่สุด
อายุ7 เดือน ออกเสียงต่อกันหลายพยางค์ได้
อายุ 10 เดือน จะใช้เสียงออกมาอย่างมีความมุ่งหมาย เช่น ส่งเสียงเรียก
พอครบ 1ปี ก็จะมีคำพูดเป็นคำๆที่ บอกว่าเขาเข้าใจความหมาย
“พากษ์หนัง” : เล่าเรื่องชีวิตประจำวัน
ในช่วงนี้ เด็กจะมีความคิดพรั่งพรูในสมอง แต่ยังหาคำมาอธิบายอย่างเหมาะสมไม่ได้ ด้วยคำยังจำกัด พ่อแม่ต้องคอย อธิบาย พูดคุยกับลูกในสิ่งที่ลูกกำลังสนใจอยู่
เหมือนกับคอย “พากย์หนัง” ให้ลูกฟัง เช่น ลูกชี้ไปที่ตุ๊กตารูปลิงที่นั่งอยู่ “น้องลิงไงลูก มานั่งอยู่ที่นี่ทำไมหนอ? มาเราไปจูงน้องลิงไปเดินเล่นดีกว่า “ พูดไปก็จับมือลูกพาเดินไปจูงน้องลิง ตามที่เราพากย์ไว้แล้ว
ลูกก็จะค่อยๆเข้าใจ คำว่า ลิง จูง เดิน
ใช้วิธีนี้กับทุกๆกิจกรรมค่ะ กินข้าว อาบน้ำ เจอผู้ใหญ่ ให้ยกมือสวัสดี ขอบคุณเมื่อได้รับของ เราผูกเป็นเรื่องราวขึ้นมาได้ทั้งนั้น คลังคำศัพท์ของลูกจะค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อย อย่างไม่น่าเบื่อ
พูด และฟัง
อ้อ! อย่าลืมเว้นช่วงเวลา ฟังลูกพูดกลับมาบ้างนะคะ พูดสลับกับฟัง ไม่ใช่แม่พูดอยู่คนเดียว
และต้องดูอารมณ์ของลูกด้วยค่ะ ว่า หมดความสนใจหรือยัง ถ้าลูกเบื่อก็เปลี่ยนไปหยิบหนังสือมาเปิดอ่านบ้างก็ได้ค่ะ
หนังสือ
คือสื่อที่ทุกบ้านต้องมี และเริ่มอ่านกับลูกได้
ให้ลูกนั่งบนตักเราได้พลิกหน้าหนังสืออ่านไปด้วยกัน
หนังสือสำหรับเด็กเล็ก ไม่ต้องมีตัวหนังสือมาก ค่ะ ขอให้มีภาพที่ชัดเจน มีเรื่องราวในภาพให้เด็กมีจินตนาการไปได้กว้างไกล
สมัยที่ลูกอายุ 1ปีครึ่ง จะอ่านหนังสือชื่อ “ของเล่นเดินทาง “ ให้ลูกฟังทุกวัน เป็นหนังสือที่ทำได้ถูกใจเด็กมากๆค่ะ เป็นเรื่องการทำของเล่นจากชิ้นไม้จริงๆ จาก “ขอนลอย” มาทำเป็นเรือ “แต่งลำ” แล้ว “ใส่ล้อ” จากขอนไม้ ค่อยๆกลายเป็นของเล่น 1 ชิ้น 2ชิ้น มารวมกันเป็นกลุ่ม ลูกเปิดทุกวัน จนหนังสือหลุดลุ่ย จนท่องได้ว่า หน้านี้อ่านว่าอย่างไร
หนังสือ “ของเล่นเดินทาง” เล่มที่ใช้อ่านกับลูก พิมพ์โดยมูลนิธิเด็ก เขียนโดย เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิบป์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พศ 2532 ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ประเภทหนังสือเด็กเล็ก ปัจจุบันเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 แล้วค่ะ
เริ่มฝึกให้ลูกพูด ด้วยการพูดให้ลูกฟังตั้งแต่แรกเกิด
“คำพูด คือ การประกอบคำ ถักทอขึ้นมาเป็นภาษา โดยกลไกพิเศษ “ ที่มีอยู่ในสมองของเด็ก ทำให้เด็กๆเรียนรู้ภาษาต่างๆได้รวดเร็วกว่าผู้ใหญ่ค่ะ
สรุป
1. เริ่มพูดคุยกับลูกตั้งแต่แรกเกิด
2.พูดให้ลูกฟังบ่อยๆ เพื่อเก็บเข้าคลังข้อมูลในสมองลูก
3.ผลัดกันพูด ผลัดกันฟัง. อย่าลืมเว้นช่วงนิ่ง เพื่อฟังลูกคุยตอบด้วย
4.สมองเป็นศูนย์รับรู้ ได้ยินเสียง นำเข้าไปเป็นข้อมูล ให้สมองส่วนควบคุมการพูด เปล่งเสียงเป็นคำพูดได้ต่อไป
5.ให้ลูกนั่งบนตัก และ อ่านหนังสือกับลูกทุกๆวัน
เรียบเรียงโดย พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล
ประธานแผนงานสื่อสารสาธารณะ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง
“The Absorbent Mind “ Maria Montessori