ช่วงเวลาใกล้คลอดเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น และเป็นช่วงที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต้องเตรียมตัวค่อนข้างเยอะ แต่ช่วงเวลาหลังคลอด ก็มีความสำคัญไม่แพ้กับก่อนคลอดเลย เพราะคุณแม่ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ การต้องปรับตัวในการเลี้ยงดูเจ้าตัวเล็ก ต้องอดหลับอดนอน แม่บางคนอาจพบกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คุณแม่ควรเตรียมรับมือกับช่วงเวลานี้อย่างไร สิ่งใดบ้างที่แม่อาจต้องเผชิญ ไปดูกันเลยค่ะ
อาการบาดเจ็บทางร่างกาย
แน่นอนว่าภายหลังคลอด แม่จะมีอาการเจ็บแผล ไม่ว่าจะเป็นแผลจากการผ่าคลอด หรือแผลเย็บบริเวณช่องคลอดจากการคลอดธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ในการสมานแผล แม่จะมีน้ำคาวปลาหลั่งออกมา ซึ่งภายหลังคลอด 2 - 3 วันจะมีปริมาณมาก และมีสภาพใกล้เคียงกับเลือด หลังจากนั้นการไหลของเลือดก็จะค่อย ๆ ลดลงตามการฟื้นตัวของมดลูกและช่องคลอด สีจะเปลี่ยนจากสีแดง เป็นสีน้ำตาลแดง และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง จากนั้นจะเป็นสีขาว และสีใสในที่สุด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างบุคคล หลังคลอดประมาณ 3 - 5 สัปดาห์ น้ำที่ไหลออกมาจะมีลักษณะใส
ในช่วงแรก แม่จะเคลื่อนไหวได้ยาก การทำความสะอาดร่างกายในช่วงแรกให้ใช้การเช็ดตัวแทน ประมาณ 1 สัปดาห์ ทำความสะอาดแผล โดยการฉีดละอองน้ำ และเช็ดให้แห้งอย่างเบามือ หมั่นขมิบช่องคลอด เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียน ช่วยสมานแผล แม่อาจลุกเดินเบาๆ เพื่อป้องกันการอุดตันของเลือดบริเวณขา การเดินจะทำให้แม่ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แม่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ และอาหารหมักดอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และแผลอักเสบ
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Baby Blues)
สาเหตุการเกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดของแม่นั้นมีหลายปัจจัย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เพราะเมื่อเริ่มตั้งครรภ์นั้น ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และเอสโตรเจน จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีปริมาณสูง แต่จะลดลงมาอย่างรวดเร็ว มาในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งความไม่สมดุลของฮอร์โมนนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ อย่างไรก็ตามอาจมีสาเหตุอื่นๆ รวมกันอีก เช่น ความเครียดที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาล หรือวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ลูกร้องกินนมบ่อยๆ ไม่มีใครช่วยดูแลลูกตอนกลับบ้าน ความผิดหวังในรูปร่าง ความกลัวที่จะไม่ได้เป็นจุดสนใจ และมีอาการเจ็บป่วย เป็นต้น
ฝึกให้นมแม่ก่อนออกจาก โรงพยาบาล
การฝึกให้นมแม่ให้คล่องก่อนออกจากโรงพยาบาล เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จในการให้นมแม่ และทำให้นมแม่มีเพียงพอในการเลี้ยงลูกตลอด 6 เดือน ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือการให้นมลูกใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการกระตุ้นวงจรการสร้างน้ำนม การโอบกอดแนบเนื้อ การดูดนมของทารกในช่วงนี้จะแรงและมีประสิทธิภาพมาก จากนั้นการดูดจะค่อยๆ ลดลงและหายไปภายใน 2 – 2.5 ชม. และอาจต้องใช้เวลานานขึ้นเพื่อฝึกฝนให้ทารกดูดนมแม่
แม้จะผ่านการคลอดไปแล้วระยะหนึ่ง และรู้สึกว่าร่างกายกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่แม่ยังควรต้องปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อนอยู่ และควรต้องดูแลลูกเพียงอย่างเดียว หากฝืนตรากตรำจะทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวได้ในภายหลัง ควรจะขอให้คุณพ่อหรือญาติคนอื่นๆ ช่วยเลี้ยงดูในส่วนที่พอทำได้ และหาเวลาพักผ่อนให้ได้มากที่สุดเมื่อมีเวลา
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย