การเตรียมตัวที่สำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนคลอด โดยการไปฝากครรภ์เร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ แม่ควรไปฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอย่างสม่ำเสมอตามนัดทุกครั้ง เพื่อการตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจเต้านม ตรวจสุขภาพลูกในครรภ์ มีการให้ความรู้และสอนวิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล่วงหน้า การดูแลที่ดีในระยะตั้งครรภ์ ช่วยให้ลูกที่คลอดออกมาแข็งแรง คลอดมาครบกำหนด เริ่มต้นดูดนมแม่ได้เร็ว แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างมั่นใจ. ในขณะเดียวกัน สามีและสมาชิกในครอบครัว เช่น ย่า ยาย ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนช่วยเหลือแม่ ก็ควรได้รับการเตรียมตัวเช่นกัน เช่น เข้าร่วมฟังการให้สุขศึกษาที่จัดโดยโรงพยาบาลพร้อมกับแม่ ร่วมใน การเตรียมตัวคลอดของแม่และร่วมวางแผนในการช่วยแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ค่ะ
โรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีความแตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปอย่างไร
ปัจจุบันทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนส่วนใหญ่ สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีคลินิกนมแม่ให้บริการปรึกษา พร้อมช่วยเหลือแม่ที่มีปัญหา แต่โรงพยาบาลที่จะช่วยแม่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีที่สุดคือโรงพยาบาลที่ปฏิบัติตามแนวบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงพยาบาลขององค์การอนามัยโลก/ยูนิเซฟ (Baby Friendly Hospital Initiative) ซึ่งประเทศไทยเรามีโรงพยาบาลที่ปฏิบัติตามบันไดสิบขั้น ในชื่อ ว่าโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก หรือ โรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว
ซึ่งในการปฏิบัติตามแนวบันไดสิบขั้นนี้ ประกอบด้วย การมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนปกป้องนมแม่อย่างชัดเจน ไม่มีการให้นมผสม แพทย์พยาบาลได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้และทักษะในการช่วยเหลือแม่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จน มีความเชี่ยวชาญ มีการจัดสอนแม่ตั้งแต่ขณะตั้งครรภ์ หลังคลอดจะได้รับการช่วยเหลือให้แม่ให้ลูกดูดนมตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังเกิดในห้องคลอด แม่ลูกได้อยู่ด้วยกันตลอด ไม่มีการแยกแม่ลูก ให้ลูกได้นมแม่เต็มที่ตามต้องการ ไม่มีการให้นมผสมเสริม ไม่มีการใช้ขวดนมหัวนมปลอม และเมื่อจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลแล้วมีกระบวนการติดตามดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน
ความสำคัญของการได้รับความรู้นมแม่และการฝึกวิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล่วงหน้า
ปัจจุบันความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามสื่อสังคมออนไลน์ ข้อมูลที่มากเกินและบางครั้งไม่ตรงกัน จากประสบการณ์ที่แตกต่างกันของผู้เผยแพร่ความรู้ อาจสร้างความสับสนให้แก่แม่ได้ ในโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะมีการให้ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องนมแม่ที่ถูกต้อง รวมถึงการฝึกทักษะ การอุ้มลูกให้ถูกท่า การให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี อย่างเป็นระบบ ให้แม่ได้เตรียมตัวตั้งแต่ขณะมาฝากครรภ์ ทั้งแบบตัวต่อตัว หรือจัดเป็นห้องเรียน สอนเป็นกลุ่ม บางโรงพยาบาลจัดให้มีกลุ่มสนับสนุนนมแม่ ให้แม่ได้เข้าร่วมกลุ่ม เปิดโอกาสให้ซักถามปัญหาจากแม่ที่มีประสบการณ์ตรง
การได้ความรู้คุณประโยชน์นมแม่ เปรียบเทียบกับความเสี่ยงถ้าเลี้ยงลูกด้วยนมผสม และการฝึกวิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล่วงหน้า เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับแม่ ทำให้แม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเมื่อคลอดลูกออกมา ทำให้สามารถรับมือได้เมื่อต้องปฏิบัติจริง เพราะเคยฝึกมาแล้ว
วางแผนการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
แม่ควรบอกแพทย์หรือพยาบาลตั้งแต่ขณะฝากครรภ์ว่า ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และต้องการคลอดแบบธรรมชาติ เพื่อให้แพทย์ได้หลีกเลี่ยงยาหรือวิธีการต่างๆที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ และถ้าเป็นไปได้ ดีที่สุดคือ สามีหรือญาติ ขอเข้าไปให้กำลังใจแม่ในห้องคลอด ถ้าโรงพยาบาลมีสถานที่เอื้ออำนวย ซึ่งจะช่วยทั้งการคลอดให้ง่ายขึ้น และการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปได้ดีตั้งแต่หลังคลอดทันทีในห้องคลอด
การเตรียมตัวทีดีล่วงหน้าทั้งตัวแม่เอง และผู้สนับสนุนแม่ที่สำคัญคือ สามี และสมาชิกในครอบครัว ตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์ ช่วยให้มีการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีประสิทธิภาพ และคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายนั่นเองค่ะ
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง
Implementation Guidance .Protecting,promoting and supporting breastfeeding in facilities providing maternity and newborn services:revised Baby-Friendly Hospital Initiative 2018. World Health Organization,Unicef