ชั่วโมงแรกหลังคลอดเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์ของคุณแม่และคุณลูก การที่ทารกแรกคลอดได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อและเริ่มดูดนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดนั้นพบว่ามีประโยชน์ทั้งแม่และลูก แม่จะได้รับการช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเพื่อสร้างน้ำนมให้มาเร็วขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของแม่จากการตกเลือดหลังคลอด แม่จะเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ ดีใจ ปลอดภัย หายกังวล ส่วนทารกที่ได้ดูดนมแม่ในอ้อมกอดของแม่ทันทีหลังคลอดมีความสำคัญกับการมีชีวิตรอดของทารก แม้ในระยะนี้น้ำนมแม่จะยังไม่มาแต่จะเป็นการช่วยกระตุ้นการทำงานของเต้านมให้พร้อมในการสร้างน้ำนม โดยเฉพาะน้ำนมที่มาระยะแรกคือน้ำนมทอง ที่เรียกว่าโคลอสตรุม(Colostrum)ที่อุดมด้วยภูมิคุ้มกันทุกรูปแบบช่วยให้ทารกแข็งแรงไม่เจ็บป่วย จึงลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการตายของทารกและยังนำไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาวของคุณแม่และคุณลูก แต่ในปัจจุบันมีทารกในโลกใบนี้ได้ดูดนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอดประมาณไม่ถึงครึ่ง(ร้อยละ 40)เท่านั้น ทารกในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน
ความท้าทายของความสำเร็จในการเริ่มให้ได้ดีในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดนั้นคืออะไรนั้นเรามาฟังเคล็ดไม่ลับกันค่ะ ความท้าทายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากหลายสาเหตุด้วยกันค่ะ เช่น การที่คุณแม่ทำการผ่าคลอดทำให้ไม่สามารถนำลูกไปดูดนมแม่ให้เร็วได้และลูกอาจจะได้รับยาแก้ปวดของแม่ที่มีผลทำให้ลูกง่วงซึม การที่คุณพ่อคุณแม่และครอบครัวขาดการเตรียมตัวที่ดี การที่พยาบาลได้นำตัวลูกน้อยไปอาบน้ำ ล้างไขและคราบเลือดออกจากตัวในทันทีที่คลอด อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่คุณแม่เกิดความไม่แน่ใจจนเกิดความลังเลด้วยคำถามมากมายเช่น ลูกจะดูดได้ไงในเมื่อลูกเพิ่งเกิด? ลูกจะดูดเป็นหรือ? น้ำนมจะมาหรือ?
เคล็ดไม่ลับเริ่มที่เตียงคลอดค่ะ จากการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Karolinskiในประเทศสวีเดนพบว่า ถ้าให้ลูกได้ดูดนมแม่ตั้งแต่ใน 1 ชั่วโมงแรกหลังเกิด จะทำให้น้ำนมแม่มาเร็ว ใน 2 วันแรก ถ้าไม่ได้รับการดูดกระตุ้นนั้นน้ำนมจะมาช้าอาจประมาณ 3 วัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่และครอบครัวจะช่วยกันเลือกโรงพยาบาลที่สนับสนุนการคลอดธรรมชาติ คุยกับสูติแพทย์ไว้ล่วงหน้าเพื่อขอคลอดวิธีธรรมชาติหากไม่มีข้อห้ามใด รวมทั้งวางแผนหลังการคลอดร่วมกับสูติแพทย์ให้ชัดเจนถึงความตั้งใจในการเริ่มให้นมทารกทันทีหลังคลอด
พญ อรสุดา สมประสิทธิ์ คุณหมอพัฒนาการเด็ก กล่าวว่า “ ทันทีที่ทารกคลอดออกมา ตัดสายสะดือปุ๊บ เด็กจะร้อง นี่คือครั้งแรกที่เขาตื่น การตื่นครั้งแรกนี้ ทารกจะอยู่ในสภาพตื่นตัวสูงสุด มีความพร้อมรับการกระตุ้น ปากจะเริ่มขยับ มือจะเริ่มคว้า หันหาเสียงแม่ที่คุ้นชิน ซึ่งเป็นพฤติกรรมของความพร้อม เจอหัวนมก็จะงับดูดได้เลย ” แต่พอ 40 นาที ผ่านไปลูกก็จะเข้าสู่ภาวะนอน ง่วง และหลับ ดังนั้นหากทารกไม่ได้ดูดนมแม่ในชั่วโมงแรกหลังจากคลอดก็อาจต้องใช้เวลานานขึ้นเพื่อฝึกฝนให้ทารกดูดนมแม่
พญ สุดาทิพย์ โฆสิตะมงคล คุณหมอทารกแรกเกิด กล่าวว่า “ จะให้ได้สำเร็จ มี 3 เรื่องที่ต้องช่วยกัน คือ หนึ่ง แม่และลูกต้องรู้สึกตัวดีทั้งคู่ ถ้าไม่รู้สึกตัวดีไม่มีประโยชน์ สอง สิ่งแวดล้อมต้องสนับสนุนให้แม่มีกำลังใจ มีบรรยากาศไม่เร่งรีบแต่เงียบสงบ สาม ให้เวลาแม่ลูกได้อยู่ด้วยกันนานๆอย่างน้อยสุด 30 นาที”
ในขณะที่ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือการเลือกวิธีคลอด กล่าวคือการคลอดธรรมชาติทางช่องคลอดนั้นจะไม่ทำให้แม่และทารกเกิดความรู้สึกง่วง แต่ถ้าผ่าท้องคลอดหรือได้รับการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม pethidine หรือ morphine นั้นจะทำให้ทั้งแม่และทารกมีโอกาสง่วง ซึม หลังจากนั้นเมื่อตัดสายสะดือทารก จัดการทางเดินหายใจของทารกให้โล่ง และทำการเช็ดตัวทารก ซึ่งในขั้นตอนนี้นั้นผู้ทำคลอดควรทำการเช็ดตัวทารกอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องแห้งมาก ให้มีน้ำคร่ำค้างติดตัวบ้างเพราะทารกยังคุ้นชินกับน้ำคร่ำ จากนั้นให้ทำการอุ้มทารกนอนบนอกแม่ เนื้อแนบเนื้อ และในตอนนั้นเองที่ทารกจะสามารถควานหาหัวนมได้เอง หรืออาจมีการเสริ์ฟหัวนมแม่ให้ทารกดูดก็ได้ จากนั้นห่มผ้าห่มให้คุณแม่และคุณลูก และมอบช่วงเวลามหัศจรรย์ให้คุณแม่และคุณลูกได้อยู่กันเงียบๆเพื่อเกิดการดูดกระตุ้นสักครู่ใหญ่อย่างเนิบนานอย่างน้อย 30นาที
การดูดนมแม่ภายใน 1 ชัวโมงแรกหลังเกิดจะทำให้ระดับฮอร์โมน prolactin (ฮอร์โมนสร้างน้ำนมแม่) ขึ้นสูง ขณะเดียวกันก็สามารถลดลงได้อย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้หลังจากช่วงนี้นั้นจึงต้องให้เวลาแม่อยู่กับลูก และให้ลูกได้ดูดนมแม่บ่อยๆ ด้วยเช่นกัน
ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่และครอบครัว แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการสร้างความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการเริ่มให้ดีได้ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด แม้ว่าในทางปฏิบัตินั้นคุณแม่มักจะบอกว่า “คุณแม่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลไหนไหนก็มักจะได้ดูดนมบนเตียงคลอดแป๊บเดียว ทั้งเสียงและบรรยากาศห้องคลอดดัง ก๊องแก๊ง พุดคุยกัน ไม่สงบเอาเสียเลย” แต่เมื่อทุกฝ่ายเกิดความชัดเจนแล้วว่าการที่เริ่มให้ดีตั้งแต่ชั่วโมงแรกนั้นจะทำใหคุณแม่และคุณลูกต่างก็ได้รับประโยชน์ทางกลไกลการทำงานของร่างกายและเกิดคุณค่าทางจิตใจและยังเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงขอเชิญชวนมาช่วยกันให้ทารกได้ดูดนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกให้ได้100%กันนะคะ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.