การคุมกำเนิด หมายถึงการป้องกันการตั้งครรภ์ โดยแบ่งออกเป็น การคุมกำเนิดชั่วคราว และการคุมกำเนิดถาวร การเลือกวิธีคุมกำเนิดในช่วงให้นมนั้นคุณแม่จำเป็นต้องศึกษาข้อดี ข้อเสีย เพื่อให้เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีการคุมกำเนิดแต่ละวิธีมีข้อควรพิจารณาที่จะไม่กระทบการให้นมลูก โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การให้นมแม่อย่างเดียว
การให้นมแม่เพียงอย่างเดียว เป็นการคุมกำเนิดตามธรรมชาติ ซึ่งมีประสิทธิภาพในช่วง 6 เดือนแรกเท่านั้น แต่แม่ต้องไม่เสริมนมผสม น้ำ หรืออาหารอื่นๆ เลย และต้องให้ลูกดูดนมจากเต้าบ่อยๆ โดยห่างกันไม่เกิน 4 ชั่วโมงในช่วงกลางวัน และในช่วงกลางคืนต้องให้ห่างกันไม่เกิน 6 ชั่วโมง (หากมีความจำเป็นต้องเสริมนมผสม น้ำ ไม่ควรเกินร้อยละ 5 ของการให้นมแก่ลูกทั้งหมด) เพราะการดูดนมเป็นการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโปรแลกติน ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ได้ดี และในการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะต้องไม่มีประจำเดือนมา โดยจากรายงานการวิจัยถึงประสิทธิภาพของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผลในการคุมกำเนิด ก็พบว่าแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรก จะทำให้ยับยั้งการตกไข่ได้สูงถึงร้อยละ 98 ซึ่งเทียบเท่ากับการคุมกำเนิดแบบวิธีอื่น
หากต้องการใช้การคุมกำเนิดแบบอื่นเสริมหลังจากแม่เริ่มมีประจำเดือน (รังไข่เริ่มทำงาน และอาจมีไข่ตก) อาจใช้วิธีการคุมกำเนิดดังต่อไปนี้
2. การใช้ยาคุมกำเนิด
2.1 ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด ที่แนะนำในคุณแม่ที่ให้นมมี 2 ชนิด คือ
• ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว (progestin only pills หรือ minipill) เหมาะสำหรับการใช้ใน 6 เดือนแรก เพราะไม่มีฤทธิ์กดการสร้างและหลั่งน้ำนม และไม่ทำให้คุณภาพของน้ำนมเปลี่ยนแปลง แต่มีข้อควรระวัง คือ ยาตัวนี้ออกฤทธิ์ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียว ทำให้เชื้ออสุจิว่ายเข้าไปในโพรงมดลูกไม่ได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อไม่เหมาะแก่การฝังตัวของตัวอ่อน และช่วยยับยั้งการตกไข่ได้บางส่วน แต่ยังคงมีร้อยละ 40-50 ที่ยังเกิดการตกไข่อยู่ จึงต้องกินยาทุกวันและกินตรงเวลาจนหมดแผง แล้วเริ่มยาแผงต่อไปทันที ไม่ต้องเว้น แม้จะมีประจำเดือนก็ตาม เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด หากผิดเวลาเกิน 3-12 ชั่วโมง (ขึ้นกับยี่ห้อของยา) อาจต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ ช่วย และกรณีที่กินยานี้ช้าไป ให้กินยาเม็ดที่ลืมกินในทันที หลังจากนั้นกินยาเม็ดต่อไปตามปกติ ใช้ถุงยางหรืองดเว้นการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 48 ชั่วโมง อาการข้างเคียงจากการใช้ยานี้ที่พบได้บ่อยคือ อาจพบเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด
• ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม (เอสโตรเจน + โปรเจสเตอโรน)
ในคุณแม่ที่ให้นมหากจะใช้ควรเริ่มใช้ยาชนิดนี้เมื่อน้ำนมแม่สร้างเต็มที่แล้ว คือ หลังคลอด 6 สัปดาห์ แต่ในคุณแม่บางรายอาจทำให้การสร้างน้ำนมลดลงได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิด หากจะป้องกันการรบกวนกระบวนการสร้างน้ำนม ควรใช้ยาเมื่อผ่าน 6 เดือนแรกไปแล้ว โดยเริ่มกินยาคุมกำเนิดเม็ดแรกในช่วงวันที่ 1-5 ของรอบเดือน จากนั้นกินยาวันละ 1 เม็ดในเวลาเดียวกันของทุกวัน
ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดพบว่ามีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้เพียงร้อยละ 0.3 หากใช้ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ แต่จากการใช้งานจริง พบมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้ถึงร้อยละ 8 อาจมีสาเหตุจากการลืมรับประทาน หรือกินไม่ถูกต้อง
2.2 ยาคุมกำเนิดแบบฉีด (โปรเจสเตอโรนอย่างเดียว) เริ่มใช้ได้ตั้งแต่ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด โดยจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิดได้ 12 สัปดาห์ เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 0.3 ไม่ต้องกังวลเรื่องการลืมกินยา เพียงแต่ต้องฉีดยาคุมกำเนิดเข็มถัดไปตามนัดหมาย มีฤทธิ์กดการตกไข่ ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น มีผลคุมกำเนิดได้ดีกว่าแบบกินโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว และไม่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การใช้ในระยะยาวอาจมีผลให้ไม่มีประจำเดือนมาและไม่มีการตกไข่ กรณีต้องการกลับมาตั้งครรภ์อีกครั้งต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหลังหยุดยาฉีดนี้เพื่อที่จะกลับมามีประจำเดือนและตั้งครรภ์
2.3 ยาคุมกำเนิดแบบฝัง (โปรเจสเตอโรนอย่างเดียว) จัดเป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่ออกฤทธิ์นาน ที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง เทียบเท่ากับการทำหมันหญิง มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 0.17 คุณแม่สามารถเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ยาคุมกำเนิดแบบฝังจะคุมได้ 3-5 ปีตามชนิดของยาคุมกำเนิดแบบฝังที่เลือกใช้ มีฤทธิ์กดการตกไข่ มีผลคุมกำเนิดได้ดีกว่าแบบกินโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว และผลจะคล้ายคลึงกับยาคุมกำเนิดแบบฉีด วิธีนี้ทำโดยการฝังหลอดยาแท่งเล็กๆ เข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขนด้านที่ไม่ถนัด ฮอร์โมนจากแท่งยาจะค่อยๆ ซึมออกมาเข้าสู่ร่างกายทีละน้อย เมื่อครบกำหนดต้องเอาหลอดยาเดิมออก เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติสลายไปได้เอง
3. การใช้ห่วงคุมกำเนิด มีทั้งชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและชนิดไม่มีฮอร์โมน การทำงานของห่วงคุมกำเนิดนี้จะไปช่วยขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน และทำลายตัวอสุจิในโพรงมดลูก (โดยกลไกป้องกันการตั้งครรภ์ขึ้นกับชนิดของห่วงคุมกำเนิด) เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 0.6 และสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังจากทำการถอดห่วงคุมกำเนิด คุณแม่สามารถรับการใส่ห่วงคุมกำเนิดได้ทันทีหลังคลอดบุตร แต่ที่แนะนำคือเมื่อมดลูกกลับเข้าอู่ดีที่ประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด หรือหลังจากประจำเดือนหมดใหม่ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดนานถึง 5-10 ปีขึ้นกับชนิดของห่วงคุมกำเนิด
4. การทำหมัน เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวร และได้ผลมากที่สุด เหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรเพียงพอแล้ว อีกทั้งสามารถทำได้ง่าย ปลอดภัย และมีภาวะแทรกซ้อนน้อย โดยไม่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่การทำหมันหญิงอาจเกิดท่อนำไข่กลับมาเชื่อมต่อกันเองได้ทำให้มีการล้มเหลวของการคุมกำเนิดทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ร้อยละ 0.5
5. ถุงยางอนามัย เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่นิยมใช้มากที่สุด และสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูง หากใช้อย่างถูกต้อง กล่าวคือ ต้องใช้ขนาดที่ถูกต้องเหมาะสม ตรวจสอบเสมอว่าไม่มีรอยฉีกขาดหรือรั่ว และต้องระมัดระวังไม่ให้ถุงยางอนามัยหลุด อีกทั้งไม่ควรใช้ซ้ำเด็ดขาด ข้อดีเพิ่มเติมของการใช้ถุงยางอนามัยคือช่วยป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย โดยทั่วไปจากการใช้งานจริงพบมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้สูงถึงร้อยละ 15 ซึ่งสาเหตุน่าจะเกิดจากการใช้ถุงยางไม่ถูกวิธี ใช้ไม่สม่ำเสมอ หรือเกิดการแตกรั่วของถุงยางอนามัย
6. การคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติอื่นๆ เป็นวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติ โดยไม่ใช้อุปกรณ์หรือฮอร์โมนใดๆ ถ้าทำได้อย่างถูกต้องประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด พบมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ร้อยละ 3 แต่มีข้อห่วงใยที่สำคัญคือถ้าทำได้ไม่ถูกต้องมีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูงถึงร้อยละ 85 ซึ่งเทียบเท่ากับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน แม้จะมีข้อดีคือไม่มีผลกระทบต่อการให้นมลูกก็ตามที วิธีคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาตินี้ยกตัวอย่าง เช่น การหลั่งนอกช่องคลอดที่เป็นวิธีการคุมกำเนิดโดยฝ่ายชายจะถอนอวัยวะเพศออกจากช่องคลอดของฝ่ายหญิงก่อนที่จะถึงจุดสุดยอด และหลั่งน้ำอสุจิออกมาภายนอกช่องคลอดของฝ่ายหญิงแทน เป็นวิธีที่มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้สูงอยู่ ประมาณร้อยละ 4-27 เนื่องจากในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์อาจมีเชื้ออสุจิออกมากับสารคัดหลั่งของฝ่ายชายได้บ้าง หรือวิธีการกำหนดระยะปลอดภัยที่เป็นการหาช่วงเวลาที่ไม่ปลอดภัยที่จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่ไข่ตก แล้วงดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการเลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมขึ้นกับคุณแม่แต่ละคน โดยเฉพาะหากคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวการคุมกำเนิดถือเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม
พันเอก ผศ. แพทย์หญิง ปริศนา พานิชกุล
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.