6 สัปดาห์แรกหลังเกิด คือช่วงวิกฤตในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
6 สัปดาห์แรกเป็นช่วงที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ระยะที่ยากที่สุด ถือเป็นช่วงวิกฤตช่วงหนึ่งต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะยังเป็นช่วงการเรียนรู้ของทั้งแม่และลูก ถ้าสามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะไปต่อได้ง่ายขึ้น พบว่าในช่วงนี้ คุณแม่อาจตัดสินใจเสริมนมผสมให้ลูก จากหลากหลายเหตุผล เช่น คิดว่าน้ำนมไม่พอ ทั้งๆความจริงอาจจะพอ ลูกงอแงอยากให้ลูกหลับนานๆ มีปัญหาการดูดนม เจ็บหัวนม หัวนมแตก ฯลฯ มีแรงกดดันจากญาติในครอบครัว เพื่อน ที่คิดว่าเสริมนมผสมนิดหน่อยคงไม่เป็นไร หรือจากการเชื่อการโฆษณาของบริษัทนม
การเสริมนมผสม คือการเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพให้แก่ลูก
ให้คิดเสมอว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือความปกติ น้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดที่ธรรมชาติมอบมาให้แก่ลูก เมื่อไรที่เสริมนมผสม คือความผิดปกติ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพแก่ลูกโดยไม่จำเป็น
ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้จากการเสริมนมผสมคือ
1. รบกวนกระบวนการสร้างน้ำนม ทำให้การสร้างน้ำนมลดลง จนแห้งไปในที่สุดได้ ทำให้ระยะเวลาการให้นมแม่สั้น
เนื่องจากเมื่อเสริมนมผสม ลูกจะดูดนมแม่น้อยลง และลูกที่ได้รับนมผสม มักนอนหลับนาน การกระตุ้นการสร้างน้ำนมจากการดูดนมแม่จากเต้าจึงลดลง ประกอบกับวิธีการเสริมนมผสม ส่วนใหญ่ให้ลูกดูดจากขวด ใช้หัวนมปลอม ซึ่งในช่วงนี้ยังเป็นช่วงการเรียนรู้การดูดนมแม่ เกิดการสับสนหัวนมได้ง่าย เพราะการดูดจากขวด น้ำนมไหลเข้าปากได้เร็ว ต่างจากการดูดนมแม่ เมื่อกลับมาดูดนมแม่ ลูกจะหงุดหงิด ไม่ยอมดูดนมจากเต้าอีก แม่ก็อาจต้องเสริมนมผสมเพิ่มขึ้นตาม การกระตุ้นการสร้างน้ำนมจากการดูดของลูกก็ยิ่งน้อยลง จนต้องหยุดนมแม่ไปในที่สุด นอกจากนี้ ผลที่เกิดจากการดูดนมแม่ลดลง อาจก่อปัญหาเต้านมคัดในแม่ตามมา . เพราะลูกไม่ได้ดูดน้ำนมออก เต้านมคัดทำให้ ลูกดูดนมแม่ได้ยาก อาจมีปัญหาเต้านมอักเสบตามมา ลูกดูดนมแม่ยิ่งยากมากขึ้น และในที่สุด การสร้างน้ำนมจะลดลง จนแห้งหายไปในที่สุด
2. มีความเสี่ยงต่อการแพ้โปรตีนนมวัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้
ในระยะ 6 สัปดาห์นี้ ลำไส้ของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร ยังอยู่ห่างๆไม่ปิดสนิท การให้นมผสมช่วงนี้ จึงมีผล ทำให้โปรตีนจากนมวัวซึ่งเป็นโปรตีนแปลกปลอม เล็ดลอดเข้าไปในร่างกาย ไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้
3. เกิดการเสียสมดุลย์ของจุลินทรีย์ในลำไส้ลูก
ในทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว ลักษณะจุลินทรีย์ในลำไส้ส่วนใหญ่จะเป็นจุลินทรีย์สุขภาพที่มีประโยชน์ไม่ก่อโรค ช่วยป้องกันการติดเชื้อ และช่วยกระตุ้นการทำงานของ ระบบภูมิคุ้มกันโรคของลูกที่ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ในลูกในช่วงนี้ นอกจากนี้น้ำนมแม่ยังมีน้ำตาลโอลิโกแซคคาไรด์ ซึ่งเป็นอาหารที่สําคัญช่วยในการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์สุขภาพ และยัง เป็นตัวล่อจับเชื้อโรคทั้งแบคทีเรียและไวรัสไว้ ไม่ให้เชื้อโรคทะลุผ่านเซลล์เยื่อบุลำไส้ซึ่งยังไม่ปิดสนิทนี้ เข้าสู่กระแสเลือดได้ แต่เมื่อเสริมนมผสมเข้าไป สมดุลย์ของจุลินทรีย์เปลี่ยนไป จุลินทรีย์สุขภาพลดลง มีจุลินทรีย์ที่ก่อโรคเพิ่มขึ้น เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านเซลล์เยื่อบุลำไส้ที่ยังปิดไม่สนิทนั้นง่ายขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระยะสั้น เช่นท้องเสีย รวมถึง ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังในระยะยาวด้วย เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้
สิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการเสริมนมผสมให้แก่ลูกโดยไม่จำเป็น คือ ความมั่นใจในคุณประโยชน์นมแม่ ความอดทน และการให้เวลากับลูกในช่วงนี้เต็มที่ อยู่ใกล้ชิดกับลูกตลอดเวลา เมื่อมีปัญหาควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญนมแม่
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง
Formula Supplementation of the Breastfed Infant: Assault on the Gut Microbiome
Walker, Marsha Clinical Lactation Vol 5 Issue 4 DOI: 10.1891/2158-0782.5.4.128
Walker M. Formula Supplementation of Breastfed Infants: Helpful or Hazardous? ICAN 2015 ; 198-206