จากกระแสข่าวมากมายเกี่ยวกับโรค COVID-19 ที่เกิดกับแม่ลูกอ่อน ทั้งการติดเชื้อของแม่ หรือการพบเชื้อในน้ำนมแม่ ซึ่งอาจทำแม่ให้เกิดความวิตกกังวล และความสับสนว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะข่าวสารที่ได้รับบางครั้งไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ประกอบกับการที่โรคยังเป็นโรคใหม่ ไม่มีข้อมูลมากพอให้ศึกษา สรุปแล้วแม่ควรเชื่อใครดี ?! วันนี้ทางทีมงานนมแม่ จะมาช่วยสรุปประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับแม่ให้นม ช่วง COVID-19 กันค่ะ
“ณ วันนี้ ข้อมูลคนท้องในประเทศไทยที่ติดเชื้อโควิดมีเพียง 7 คน เชื้อไวรัสโควิด เป็นเชื้อที่เราไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้า ต้องระมัดระวังสูงจริง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้ตระหนกจนเกินไป ” ศ. คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผย พร้อมทั้งกล่าวถึงการแนะแนวทางปฏิบัติให้แก่แม่ให้นมว่า เราไม่สามารถบอกแบบฟันธงได้ว่าเป็นแนวทางที่ถูกหรือผิด สิ่งที่ทำได้คือการให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเพื่อให้แม่เปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ของนมแม่ และความเสี่ยงที่อาจเกิดจากเชื้อโควิด โดยเปรียบเทียบเหมือนตาชั่งทั้ง 2 ด้าน ที่แม่ควรรู้
คุณหมอได้กล่าวเพิ่มเติมว่าในขณะนี้ มี paper เกี่ยวกับเคสนมแม่กับโควิดออกมามากขึ้น ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และอาจช่วยตอบคำถามที่เป็น confused ของสังคมได้ ซึ่งคุณหมอได้ออกมาเปิดเผยแต่ละประเด็นดังนี้
แม่ติดเชื้อโควิด จะสามารถมี skin to skin กับลูก ในชั่วโมงแรกหลังคลอดได้หรือไม่?
หากเราจะอุ้มลูกบนเตียงคลอด แน่นอนว่าเราอาจจะกลัวลูกจะติดเชื้อจากการจับ หรืออุ้ม แต่ องค์การอนามัยโลก (WHO) วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ยังยืนยันว่าควรจะให้มีการจับ การอุ้ม เพื่อทำให้กระบวนการสร้างน้ำนม ได้เกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม ถ้าไม่มีการกระตุ้นช่วงนี้ มันก็จะไม่ใช่ critical time ในการกระตุ้นให้เกิดวงจรการสร้างน้ำนม โดยแม่ควรให้ลูกนอนบนอก 30 นาทีขึ้นไป ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดประโยชน์ แต่ในการให้นมนั้น แต่ควรมีการป้องกันละอองมูลฝอย โดยการล้างมือบ่อย ๆ ใส่ Mask/Face Shield และงดการพูดคุย ระหว่างอยู่กับลูก
หากแม่ติดเชื้อโควิด จะพบเชื้อในน้ำนมหรือไม่?
วารสารการแพทย์ระดับโลก The Lancet ฉบับ 21 พ.ค.2563 รายงานการตรวจหาไวรัสโรค COVID-19 ของแม่ 2 คน ที่ติดเชื้อโรค COVID-19 เพิ่งคลอดและเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ผลการตรวจด้วยวิธี RT-PCR พบว่า มีแม่ 1 คน ที่ตรวจพบไวรัสในน้ำนม ในช่วงที่มีอาการโรค COVID-19 อยู่ประมาณ 9 วัน โดยตรวจพบถึง 3 วัน และลูกก็ตรวจพบเชื้อด้วยเช่นกัน ซึ่งลูกมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ แต่เมื่อตรวจอย่างละเอียดแล้ว พบว่า มีการติดเชื้อไวรัส RSV ด้วย ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลูกติดเชื้อโควิดผ่านทางน้ำนมแม่จริงหรือไม่ หรือจากทางอื่น
ซึ่งเบื้องต้นหากแม่ติดโควิด อาจพบเชื้อหรือไม่พบเชื้อในน้ำนมก็ได้ เบื้องต้นหากแม่กังวล อาจหลีกเลี่ยงการสัมผัสลูกก่อน เมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้วจึงกลับมาให้นมลูกแบบปกติได้ ทั้งนี้ก่อนการตัดสินใจ แม่ต้องปรึกษาสูตินารีแพทย์ผู้ดูแลเพิ่มเติม เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมเป็นรายเคสไป
จะเกิดภาวะอักเสบในหลายอวัยวะ หรือ multi-system inflammatory syndrome (MIS-C) ในเด็กอ่อนหรือไม่ หลังจากติดเชื้อ COVID-19 แล้ว?
หลังจากที่ติดเชื้อโควิดได้ประมาณ 2-7 สัปดาห์ เด็กอาจจะมีอาการ คล้ายคลึงกับโรคคาวาซากิ กล่าวคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดท้อง อาเจียน บางรายมีผื่นและอาการช็อค คล้าย Toxic Shock Syndrome แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันนั่นคือ อายุของเด็กที่ป่วยเป็น MIS-C ที่เป็นในเด็กโต อายุมากกว่า 1 ปี แต่สำหรับเด็กแรกเกิดนั้น จากข้อมูลในปัจจุบัน มีโอกาสเกิดน้อยมาก ทั้งนี้ โรค MIS-C และ คาวาซากิ เกิดจากการมีภาวะภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ (Autoimmune Process) ซึ่งแสดงอาการคล้ายกัน ส่วนการติดเชื้อ COVID-19 สามารถทำให้เกิด Kawasaki Disease หรือไม่ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
สุดท้ายนี้คุณหมอได้ย้ำว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ นมแม่เป็นแหล่งภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดของลูก และแม่ไม่ควรนำข่าวสารต่างๆ ใน social มารวมกันแล้วสรุปเอง จนทำให้ลูกพลาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการให้นม และสิ่งที่สำคัญคือแม่ควรดูแลตัวเอง ระมัดระวังไม่นำตัวเองเข้าไปในที่ที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ และแพร่เชื้อสู่ลูกนั่นเอง
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย