เมื่อแม่ต้องเริ่มออกไปทำงาน การใช้ชีวิตก็อาจเปลี่ยนไปในขณะที่ลูกยังคงต้องได้รับนมแม่ แม่จึงต้องเตรียมตัวและเรียนรู้เรื่องบีบเก็บน้ำนมเพื่อให้การเลี้ยงดูลูกไม่สะดุดและมั่นใจว่าลูกยังคงได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอ การบีบนมจะป้องกันและแก้ไขเต้านมคัดและภาวะท่อน้ำนมอุดตัน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมอีกด้วยค่ะ
น้ำนมแม่มีความซับซ้อนและมีเอกลักษณ์ ส่วนประกอบของน้ำนมแม่ไม่นิ่ง ไม่คงที่อย่างนมผสม ร่างกายแม่จะสร้างและผลิตน้ำนมที่มีส่วนประกอบต่างๆให้เหมาะกับลูก โดยน้ำนมแม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณ 87.5%
• Colostrum (1-5 วันแรก) Colostrum มีการสร้างตั้งแต่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ 12-16 สัปดาห์ ให้พลังงานประมาณ 18.76 Kcal / ออนซ์ มีส่วนประกอบของสารภูมิคุ้มกัน และปริมาณโปรตีน เกลือแร่ สูง เมื่อเทียบกับน้ำนมในระยะหลัง
• Transitional milk (6-13 วัน)
• Mature milk (หลัง 14 วัน) ให้พลังงานประมาณ 21 Kcal / ออนซ์ ส่วนประกอบของน้ำนมแม่ มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละมื้อและส่วนประกอบของสารอาหารก็จะมีการเปลี่ยนแปลง
ในแต่ละวันและตลอดระยะการให้นม แต่ในภาพรวมถ้าลูกได้รับนมแม่ล้วนๆ ดูดอย่างถูกวิธีเช่นดูดนมให้เกลี้ยงเต้า ลูกจะได้รับสารอาหาร เกลือแร่ วิตามิน สารภูมิคุ้มกัน สารเร่งการเจริญเติบโตเยื่อบุต่าง อย่างครบถ้วนและเหมาะสม
ตัวอย่างที่นมผสมไม่สามารถผลิตบรรจุในกระป๋องได้ เช่น สารภูมิคุ้มกัน สารเร่งการเจริญเติบโต-growth factors, hormones เป็นต้น สำหรับลูกคน น้ำนมแม่มีสารอาหาร สารส่วนประกอบต่างๆดังกล่าวมากกว่า 200 ชนิด ในระยะหลังมีการตรวจพบ Stem cells (Thomas, Zeps, Cregan, Hartman, & Martin, 2011) ซึ่งเชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญในขบวนการซ่อมแซมและส่งเสริมสุขภาพทารกในระยะยาว
การบีบน้ำนมด้วยมือ การบีบน้ำนมด้วยมือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด สะดวก ปลอดภัย และไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณืเสริมใดๆ อีกทั้งคุณแม่ยังสามารถบีบเก็บน้ำนมได้ทุกเวลาที่ต้องการ ซึ่งแม่อาจเริ่มด้วยการเตรียมร่างกายโดยการดื่มน้ำอุ่นๆ และล้างมือให้สะอาด สังเกตวิธีการดูดนมจากเต้าของลูก ว่าลูกอมได้ลึกถึงบริเวณไหน ซึ่งตำแหน่งที่ควรวางนิ้วมือคือ ตำแหน่งจมูกกับขอบปากล่างที่เราเห็นการดูดนมของลูกนั่นเอง จากนั้นกดนิ้วมือเข้าผนังหน้าอกดูตำแหน่งว่าน้ำนมออกจากจุดไหน ก็บีบตรงนั้นได้เลยเต้าละประมาณ 15 นาที 2 เต้ารวมกันประมาณ 30 นาที ใช้ภาชนะรองรับ เป็นขวดแก้วหรือถุงเก็บน้ำนมดดยเฉพาะ เมื่อน้ำนมไหลช้าลงค่อยขยับเปลี่ยนตำแหน่ง และบีบเหมือนเดิม ขยับไปให้รอบเต้านม หากน้ำนมหยุดไหล ให้เปลี่ยนไปบีบอีกเต้าหนึ่งและทำซ้ำเหมือนเดิม บีบน้ำนมสลับไปมา 5-6 ครั้งหรือมากกว่าตามความต้องการ อย่างน้อย 3-4 ครั้งในแต่ละวัน ควรสอนแม่ให้สามารถบีบน้ำนมด้วยมือเป็นทุกราย เน้นเรื่องการล้างมือให้สะอาด การบีบน้ำนมด้วยมือ ควรบีบน้ำนมเต้าละ 15 นาที 2 เต้ารวมกันประมาณ 30 นาที
น้ำนมแม่ประกอบด้วย lipase 2 ตัว ดังนั้นเมื่อแช่แข็งจึงมี lipolysis เกิดขึ้น ทำให้นมมีกลิ่นและรสแบบหืนๆ ไม่เสียแต่ลูกจะไม่ชอบ หลังบีบน้ำนมแล้วจึงควรรีบนำนมเข้าช่องแช่แข็งจะช่วยได้ โดยความเย็นจะหยุด ไขมันไม่ให้แตกตัว (Johnes& Tully, 2005)
น้ำนมแม่เป็น live fluid ดังนั้น จึงต้องเข้าใจวิธีการเก็บรักษา เพื่อให้คุณภาพน้ำนมแม่เหมือนเดิม ภาชนะการเก็บมีหลากหลายชนิด ไม่ใช้พลาสติกที่มีส่วนผสมของ BPA ดูง่ายๆคือพลาสติกประเภทแข็ง ใส
เมื่อคุณแม่ได้ทราบถึงข้อดีและวิธีการบีบเก็บน้ำนมด้วยมือเราแล้วก็จะมั่นใจและมีความสุขใจที่ได้อีกหนึ่งทางเลือกในการเก็บนมแม่จากเต้าให้ลูกรักของเรานะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ
เรียบเรียงโดย : ศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ
ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง(APN) สาขาการพยาบาลเด็ก
Center of Special Expertise in Lactation Clinic: Breastfeeding Sick Babies Center
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี