เมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัย 6 เดือน เรายังอยากให้คุณแม่ได้ให้นมแม่ควบคู่ไปกับอาหารตามวัยด้วยนะคะ สำหรับคุณแม่ที่ยังสามารถให้นมแม่ทุกมื้อเด็กในช่วงอายุ 6-9 เดือนนั้นจะมีช่วงเวลาเสริมสร้างพัฒนาการและความผูกพันธ์เป็นพิเศษระหว่างการให้นมแม่นั่นเองค่ะ เมื่อลูกน้อยสบตาแม่ ตาแม่มองตาลูก ลูกน้อยมองหากแม่ในขณะที่แม่ขยับปากพูด เป็นการสร้างการเรียนรู้ได้อย่างมากค่ะ รวมทั้งในวัย9เดือนนี้ลูกจะมีพัฒนาการที่หลากหลายมากขึ้น คุณแม่จะเห็นได้จากความสามารถในด้านต่างๆ ของลูกในช่วงอายุนี้ เช่น พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เด็กนั่งทรงได้เองโดยไม่ต้องใช้มือยันพื้น คลาน เกาะยืน และเหนี่ยวตัวลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก เด็กถือของมือละชิ้นได้ ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือหยิบของชิ้นเล็ก ด้านภาษา เด็กหันหาเสียงเรียก ทำเสียง 1-2 พยางค์ได้ เช่น ป่ะ จ๊ะ หม่ำๆ จ๊ะจ๋า ด้านสังคมและการช่วยเหลือตนเอง เด็กกลัวคนแปลกหน้า รู้สึกผูกพัน ติดคนเลี้ยงดู ดื่มน้ำจากแก้วได้ หยิบอาหารทานเองด้วยมือได้ เล่นจ๊ะเอ๋ ปรบมือ มองหาของที่ซ่อน
คุณแม่จะจะกระตุ้นพัฒนาการเด็กในช่วงอายุ 6-9 เดือน ได้อย่างไรบ้าง?
ของเล่นที่มีคุณค่า สะดวก ปลอดภัย และหาง่ายมากที่สุด คือ คุณแม่นั่นเองค่ะ ….. คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการของลูกวัยนี้ด้วยการสอดแทรกไปกับการดูแลกิจวัตรประจำวันของลูกค่ะ โดยคุณแม่เรียกชื่อลูกทุกครั้ง พูดคุยด้วยเสียงที่นุ่มนวล ท่องคำกลอน ร้องเพลง ร้องนิทาน (เช่น ร้องนิทานเรื่องกระต๊าก กระต๊าก) กับลูก ทั้งในขณะที่ให้นม ป้อนอาหาร อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม
ในช่วงเวลาที่ลูกอารมณ์ดี คุณแม่ก็สามารถกระตุ้นพัฒนาการลูกได้โดยจับให้ลูกนั่ง นำหนังสือนิทานวางให้ลูกเห็นด้วย คุณแม่เล่านิทาน โดยชี้ภาพประกอบ ทำท่าทางและเปล่งเสียง ให้ลูกทำตาม เล่นกับลูกโดยเลียนเสียงที่ลูกเปล่งออกมาและทำเสียง 1-2 พยางค์ ให้ลูกทำตาม ชี้อวัยวะต่างๆ ของลูกและเปล่งเสียง เช่น ตา ปาก หู นอกจากนี้คุณแม่อาจเปิดเพลงหรือร้องเพลง พร้อมชวนลูกปรบมือ หรือทำท่าประกอบ เช่น จำปูดำ จิ๊บจิ๊บ คุณแม่อาจหาของเล่น เช่น บล็อคไม้ ให้ลูกถือไว้มือละก้อน เชิญชวนให้ลูกเคาะโดยคุณแม่ทำให้ดู นอกจากนี้คุณแม่ควรจัดพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกได้คลานโดยมีของเล่นเพื่อกระตุ้นความสนใจ กระตุ้นให้ลูกฝึกเหนี่ยวเกาะยืน โดยวางของเล่นสีสดใสที่ลูกชอบไว้บนเก้าอี้ (ที่มั่นคง)
เนื่องจากเด็กวัยนี้มีพัฒนาการที่เข้าใจความคงอยู่ของวัตถุ (object permanent) โดยเด็กจะชอบเล่นจ๊ะเอ๋ คุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการลูกในช่วง 6-9 เดือน โดยชวนลูกเล่นจ๊ะเอ๋บ่อยๆ และนำของเล่นซ่อนใต้ผ้าห่ม เพื่อให้ลูกค้นหา การกระตุ้นพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและการช่วยเหลือตนเอง คุณแม่สามารถทำได้โดย ล้างมือลูกให้สะอาด นำอาหารชิ้นเล็กที่อ่อนนุ่ม เช่น ข้าวสุก ฟักทองต้ม ให้ลูกหยิบทานเอง ให้ลูกดื่มน้ำจากแก้ว เวลาเจอคนแปลกหน้า คุณแม่ควรอุ้มลูกเพื่อให้ลูกอบอุ่นใจและให้เวลาลูกทำความคุ้นเคย
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนการลูกในช่วงอายุ 6-9 เดือน ได้อย่างหลากหลายกิจกรรมใช่ไหมคะ ที่สำคัญคือเด็กได้เรียนรู้ด้วยการเล่นที่ปลอดภัย ของเล่นที่ดีที่สุดคือตัวคุณแม่เองนะคะ เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนนะคะ ขอให้ลูกๆ ของคุณแม่เติบโตสมวัย แข็งแรง ปลอดภัยค่ะ