คุณแม่ที่ให้นมลูกอาจจะเคยได้ยินว่า นมแม่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือนมส่วนหน้า และนมส่วนหลัง นมทั้ง2 ส่วนมีองค์ประกอบแตกต่างกันอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไรกับลูก วันนี้เรามาทำความรู้จักกันค่ะ
โดยปกติร่างกายแม่จะมีการสร้างน้ำนมให้เหมาะสมกับลูกแต่ละรายทั้งภูมิคุ้มกันและสารอาหาร ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต หรือวิตามิน โดยทั่วไปสารอาหารภายในน้ำนมมีการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยตลอดช่วงเวลาของการดูดหรือปั๊มนม
นมส่วนหน้า (Foremilk) เป็นนมส่วนที่ลูกได้รับในช่วงต้นของการดูดนมจากเต้า นมส่วนนี้มีลักษณะเหลวกว่า ใสกว่า มีไขมันน้อยกว่า แต่มีน้ำตาลแลคโต๊สปริมาณมากกว่า แลคโต๊สที่อยู่ในนมแม่มีส่วนช่วยในการพัฒนาการของสมองและระบบประสาท ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ธาตุเหล็ก และโอลิโกแซคคาไรด์ ซึ่งช่วยให้มีการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดดี เพื่อต่อสู้กับจุลินทรีย์ที่ก่อโรค
นมส่วนหลัง (Hindmilk) เป็นนมส่วนที่ลูกได้รับในช่วงท้ายของการดูดนม นมส่วนนี้มีลักษณะข้นกว่า และมีปริมาณไขมันในน้ำนมมากกว่า มีการศึกษาพบว่าไขมันในนมส่วนหลังมีปริมาณมากกว่านมส่วนหน้า 1.5 – 3 เท่า ไขมันในน้ำนมถือเป็นแหล่งพลังงานหลักเพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโต
คำถาม: คุณแม่บางท่านอาจมีความกังวลว่านมแม่ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนแยกออกจากกัน ลูกอาจจะไม่ได้รับนมทั้ง 2 ชนิดอย่างสมดุล หรือต้องให้ลูกดูดนมไปนานแค่ไหนถึงจะทำให้มีการเปลี่ยนจากนมส่วนหน้าไปเป็นนมส่วนหลัง
คำอธิบาย : การแบ่งนมแม่เป็นนมส่วนหน้าและนมส่วนหลังฟังดูแล้วเหมือนกับว่าร่างกายผลิตนมได้ 2 ชนิด ที่มีสารอาหารภายในน้ำนมแตกต่างกัน แต่ในความเป็นจริงร่างกายผลิตน้ำนมเพียงแค่ชนิดเดียวเท่านั้น แต่สาเหตุที่นมแม่มีสารอาหารแตกต่างกัน เนื่องจากเมื่อนมถูกผลิตขึ้นภายในต่อมน้ำนม นมต้องไหลผ่านท่อน้ำนม และสุดท้ายไหลออกทางหัวนม ซึ่งในระหว่างการไหลของน้ำนมโดยเฉพาะช่วงแรกของการดูดหรือปั๊มนม ไขมันบางส่วนจะมีการยึดเกาะกับต่อมสร้างน้ำนมและท่อน้ำนม แต่เมื่อมีการดูดนมหรือปั๊มนมอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะทำให้ไขมันไหลผ่านออกมาได้เพิ่มมากขึ้น โดยปกติแล้วไม่มีระยะเวลาที่แน่ชัดในการแบ่งนมส่วนหน้าออกจากนมส่วนหลัง แต่ไขมันจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทีละน้อยตลอดช่วงเวลาของการดูดหรือการปั๊มนม
ร่างกายสามารถสร้างนมส่วนหน้าและนมส่วนหลังได้อย่างสมดุลเพื่อให้เหมาะสมกับลูกแต่ละราย แต่ในช่วง 6-12 สัปดาห์แรกของการให้นมลูก โดยธรรมชาติแม่มักจะสามารถสร้างน้ำนมได้ในปริมาณที่มากกว่าความต้องการของลูก ส่งผลให้ลูกอาจจะกินนมส่วนหน้าจนอิ่ม ก่อนที่จะได้รับนมส่วนหลัง แต่เมื่อร่างกายปรับตัวโดยสร้างน้ำนมให้เพียงพอกับความต้องการของลูก ลูกก็จะได้รับทั้งนมส่วนหน้าและนมส่วนหลังอย่างสมดุล
คำถาม:หากลูกใช้เวลาในการดูดนมสั้นเกินไปจะทำให้ลูกไม่ได้รับนมส่วนหลัง จะส่งผลทำให้น้ำหนักลูกขึ้นช้าหรือไม่
คำอธิบาย : ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวลูกคือ 1.ปริมาณไขมันในนมแม่ เมื่อลูกดูดนมจากเต้าในปริมาณมาก หรือดูดนมถี่ และมีนมเหลือค้างอยู่ในเต้าน้อย จะทำให้ไขมันในน้ำนมมีปริมาณมากขึ้น 2.ปริมาณนมที่ลูกได้รับตลอดทั้งวัน (ไม่ใช่เฉพาะแต่ปริมาณของนมส่วนหลังที่ลูกได้รับ) ที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวลูก
ปริมาณไขมันในนมส่วนหน้ามีความแตกต่างกันในแต่ละมื้อตลอดทั้งวัน ขึ้นอยู่กับความถื่ในการดูดหรือปั๊มนมจากเต้า ถ้าลูกเข้าเต้าถี่ ปริมาณไขมันที่ได้รับจากนมส่วนหน้าของมื้อถัดไป อาจมีปริมาณมากกว่าในนมส่วนหลังของมื้อก่อนหน้า การเว้นระยะห่างระหว่างมื้อนม หรือมีนมเหลือค้างในเต้าปริมาณมาก จะส่งผลให้ปริมาณไขมันระหว่างนมส่วนหน้าและนมส่วนหลังมีความแตกต่างกันมาก ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงกลางคืนซึ่งระยะห่างระหว่างมื้อนมมาก นมส่วนหน้าในช่วงเวลานี้มักมีปริมาณไขมันน้อยกว่านมส่วนหน้าในช่วงเวลากลางวันที่มีความถี่ในการดูดหรือปั๊มนมมากกว่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปริมาณไขมันในนมส่วนหน้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของวัน
ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านแนะนำว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องความไม่สมดุลของนมส่วนหน้าและนมส่วนหลัง ตราบใดที่ลูกดูดนมจากเต้าได้ดี และแม่ให้นมอย่างเหมาะสมถูกวิธี โดยไม่นำลูกออกจากเต้าเร็วจนเกินไป ลูกก็จะได้รับไขมันในนมแม่อย่างเพียงพอตลอดทั้งวัน และไม่ว่าจะเป็นนมส่วนหน้าหรือนมส่วนหลังก็ถือว่าเป็นนมที่มีประโยชน์กับลูกทั้งสิ้น เมื่อคุณแม่รู้เคล็ดลับและมีความเข้าใจแล้วก็จะเกิดความมั่นใจในการให้นมแม่ได้อย่างมีความสุขแน่นอนค่ะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ
เรียบเรียงโดย พ.ต.ต.นพ.ณพล จิตรศรีศักดา
กุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด โรงพยาบาลตำรวจ