อาหารตามวัย หมายถึง อาหารอื่นที่ทารกได้รับเป็นมื้อนอกเหนือจากนมแม่หรือนมผสม เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต ช่วยให้ทารกปรับตัวจากการกินอาหารเหลวเป้นอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว และอาหารแบบผู้ใหญ่ เพื่อให้มีพัฒนาการในการกินที่เหมาะสม
ความสำคัญและประโยชน์ของการให้อาหารตามวัยสำหรับทารก
1. เพื่อให้สารอาหารแก่ทารกเพิ่มเติมจากนมแม่หรือนมผสมในกรณีที่ไม่สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้
2. ช่วยพัฒนาหน้าที่เกี่ยวกับการเคี้ยว และกลืนอาหารซึ่งมิใช่ของเหลว
3. เสริมสร้างนิสัยและพฤติกรรมการกินที่ดีของเด็ก
ก่อนเริ่มให้อาหาร ทารกควรมีวัยที่เหมาะสม และมีความพร้อมของระบบต่าง ๆ คือ ระบบทางเดินอาหาร ไต ระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่พัฒนาจนสามารถทำหน้าที่พร้อมแล้ว เมื่อพิจารณาความพร้อมของระบบต่าง ๆ แล้ว จึงแนะนำให้เริ่มอาหารตามวัยสำหรับทารก
1. ความพร้อมของระบบทางเดินอาหาร คือทารกสามารถใช้ลิ้นตวัดอาหารลงสู่ลําคอ และกลืนอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวได้และกระเพาะอาหารสามารถหลั่งกรดและน้ำย่อย pepsin (เปปซิน) ตับอ่อนหลั่งน้ำย่อย amylase และ lipase
2. ความพร้อมของไต ไตสามารถขับถ่ายของเสียทำให้ปัสสาวะเข้มข้นได้มากพอ เพื่อให้สามารถขับถ่าย renal solute load ได้แก่ ยูเรียและโซเดียวได้ดี
3. ความพร้อมของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทารกมีความพร้อมในการกินอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว สามารถควบคุมการทรงตัวของศีรษะและลำตัวได้ดี เริ่มใช้มือคว้าของเข้าปากได้ extrusion reflex ของลิ้นลดลง (การห่อปากเอาลิ้นดุนอาหารออกมา)
การเลือกอาหาร
อาหารที่ให้ทารกอายุ 6 เดือนควรมีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ และวิตามิน ปริมาณเพียงพอ ซึ่งได้จากการกินอาหารที่หลากหลาย ได้แก่ ข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว น้ำมัน ผักและผลไม้เป็นประจำทุกวัน เนื้อค่อนข้างละเอียด โดยใช้วิธีการบด เพื่อให้กลืนได้ ง่าย ไม่ควรให้อาหารปั่นเพราะทารกจะไม่ได้ ฝึกทักษะการเคี้ยวและกลืน เมื่อทารกสามารถเคี้ยวและกลืนอาหารได้ดีจึงค่อยเพิ่มความหยาบของอาหาร ไม่จำเป็นต้องบดละเอียดมาก เช่น ข้าวต้มที่มีเนื้อสัตว์ชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้ทารกมีความคุ้นเคยกับอาหารที่ เป็นชิ้นเล็ก ๆ
วิธีการให้อาหารตามวัยสำหรับทารกที่เหมาะสม
1. ป้อนอาหารทารกด้วยความนุ่มนวล และคอยช่วยเหลือทารกที่โตพอจะกินได้เองแล้วให้กินอาหารได้อย่างปลอดภัยจากการสำลัก ควรไวต่อการรับรู้สัญญาณที่แสดงถึงความหิวและความอิ่มของทารก
2. คอยกระตุ้นให้ทารกกินอาหาร แต่ไม่ควรบังคับหรือป้อนนานเกินไป แต่ละมื้อควรใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที และไม่ควรนานเกิน 30 นาที
3. ถ้าทารกปฏิเสธการให้อาหารบางอย่าง ให้ทดลองเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหาร โดยนำอาหารหลายชนิดมาผสมกันเพื่อให้ได้ความหยาบละเอียดและรสชาติตามที่ทารกต้องการ
4. ขณะที่ทารกกินอาหาร ควรลดสิ่งล่อใจที่ทำให้ทารกหันไปสนใจมากกว่าอาหารที่กำลังกินอยู่ เช่น ไม่ควรให้ดูโทรทัศน์หรือเดินป้อนอาหาร ควรฝึกให้นั่งกินอาหารที่โต๊ะอาหาร
5. ผู้ป้อนอาหารควรเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทารก ควรสบตาและพูดคุยกับทารกตลอดเวลาที่ป้อนอาหาร เพราะการให้อาหารเป็นอีกวิธีหนึ่งในการกระตุ้นการเรียนรู้ การให้ความรัก และการเชื่อมความสัมพันธ์
อาหารแนะนำเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน
อาหารที่มีเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ เลือด ไข่แดง
อาหารที่มีสังกะสีสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ อาหารทะเล
อาหารที่มีแคลเซียมสูงได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เต้าหู้ ผักใบเขียว
อาหารที่มีวิตามินเอสูงได้แก่ ตับ ไข่แดง นม ผักและผลไม้สีเหลืองส้ม เช่น ฟักทอง แครอท มะละกอสุก เป็นต้น
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.