ปัญหาเกี่ยวกับน้ำนมแม่ เป็นสิ่งที่แม่อาจจะต้องพบ ซึ่งนอกจากปัญหาน้ำนมไหลน้อยแล้ว การที่น้ำนมไหลมาก หรือน้ำนมพุ่งมากเกินไป ก็เป็นอุปสรรคในการให้นมเช่นกัน วันนี้เรามีวิธีปฏิบัติง่ายๆ สำหรับคุณแม่ที่ประสบกับปัญหาทั้ง 3 กรณีนี้กันค่ะ
น้ำนมน้อย : ก่อนที่คุณแม่จะตัดสินว่าตนเองมีน้ำนมน้อย แม่ควรทราบเกณฑ์ก่อนว่าปริมาณน้ำนมที่เหมาะสมในแต่ละวัยเป็นเท่าใด เช่น หากทารกดูดนมแม่อย่างเดียวใน 21 วันแรกแล้วถ่ายอุจจาระวันละ 4 ครั้ง ปัสสาวะวันละ 6 ครั้ง ถือว่าได้น้ำนมเพียงพอให้น้ำหนักขึ้นวันละ 20-30 กรัม หลัง 21 วัน ลูกอาจถ่ายอุจจาระวันเว้นวัน ไม่ถ่ายอุจจาระทุกวัน หลัง 1-4 เดือน น้ำหนักขึ้นประมาณเดือนละ 400 - 1,000 กรัม ให้ลูกดูดนมแม่ตามต้องการ
กรณีเป็นคุณแม่ที่ปั๊มนมล้วน ควรทราบว่า ทารกแรกเกิดถึงอายุ 3 เดือน ได้รับนมวันละ 8 มื้อ ควรบีบน้ำนมวันละ 8-10 ครั้ง 3-6 เดือน ได้รับนมวันละ 6 มื้อ ควรบีบน้ำนมวันละ 6-8 ครั้ง 6 เดือน - 1 ปี ต้องได้รับนมวันละ 4 มื้อ ควรบีบน้ำนมวันละ 4-6 ครั้ง โดยหลัง 6 เดือน มีอาหารตามวัยเข้ามาแทนที่นมแม่
น้ำนมมาก : คุณแม่ที่มีน้ำนมมากเกินไป อาจทำให้ลูกสำลัก อาเจียน หรือแหวะนมได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการกระตุ้น การสร้างน้ำนมมากเกินความจำเป็น แต่ก็ควรให้ลูกดูดนมได้ตามต้องการ หลังจากที่ลูกดูดนมแล้ว ควรสังเกตว่ามีอาการคัดตึงเต้านมหรือไม่ หากยังคัดตึงให้ปั๊มนมออกเล็กน้อยเพื่อให้หายคัด และแม่ควรได้นอนพักพร้อมลูก
น้ำนมพุ่ง : น้ำนมพุ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเมื่อลูกน้อยดูดนมแม่ ทำให้มีการกระตุ้นการบีบรัดตัวของท่อน้ำนม เพื่อให้มีน้ำนมไหลออกมา ซึ่งคุณแม่บางคนมีความรู้สึกไวต่อกลไกน้ำนมพุ่ง ทำให้นมพุ่งแรงเกินไป ผลของน้ำนมพุ่ง อาจทำให้ลูกสำลัก อาเจียน หรือแหวะนม ทางแก้ไขคือควรปรับท่าให้นม โดยจัดตำแหน่งลูกให้สูงกว่าเต้านมแม่ อาจใช้ท่านอนตะแคง หรืออาจใช้ท่าเข้าเต้าปกติ แต่แม่เอนหลังลงเล็กน้อย
ทุกปัญหาล้วนมีทางแก้นะคะ ขอมอบแนวทางให้คุณแม่ได้ลองสนุกกับการแก้ปัญหาและขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านให้มีความสุขกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ค่ะ
เรียบเรียงโดย : คุณศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ
ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง(APN) สาขาการพยาบาลเด็ก
Center of Special Expertise in Lactation Clinic: Breastfeeding Sick Babies Center
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี