ปัญหาเกี่ยวกับเต้านมที่คุณแม่ลูกอ่อนพบเจออาจสร้างความเจ็บปวดและเป็นอุปสรรคต่อการให้นมลูกได้นะคะ เพื่อให้คุณแม่มีความสุขและสามารถให้นมลูกน้อยได้ตามที่ปรารถนาอย่างเต็มที่นั้นวันนี้เราจะมาศึกษาถึงสาเหตุ วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้กันค่ะ
คัดเต้านม มักเกิดขึ้นช่วง 7 วันหลังคลอด ควรให้ลูกดูดนมแม่บ่อยตามที่ต้องการ ช่วยอุ้มจัดท่าให้ลูกดูดนมอมได้ลึก เพื่อช่วยระบายน้ำนม หากเต้านมคัดตึงมาก แนะนำให้ประคบเย็น 10 นาที ตามด้วยประคบร้อน 5 นาที แล้วบีบน้ำนมให้ลานนมนุ่ม ช่วยให้ลูกดูดนมแม่ ช่วยอุ้มจัดท่าให้ลูกดูดนมแม่อมได้ลึก ให้แม่ใส่ปทุมแก้วตอนกลางวัน เพื่อช่วยให้ลานนมนุ่ม
หัวนมแตก สาเหตุอาจเกิดมาแม่ หรือลูกก็ได้ โดยหลักๆแล้วนั้นคุณแม่อาจตรวจสอบได้ดังต่อไปนี้ค่ะ ปัญหาที่เกิดจากแม่ ได้แก่ อุ้มลูกไม่ถูกท่า ลานนมตึง ลานนมแข็ง น้ำนมมาก เต้านมตึง ติดเชื้อราที่หัวนนม ลานนม หัวนมอักเสบ ผิวหนังอักเสบ. ใช้เครื่องปั๊มนมแรงเกินไป ปั๊มนมนานเกินไป เลือกขนาดกรวยเครื่องปั๊มนมไม่เหมาะสมกับหัวนม ลานนม ปัญหาที่เกิดจากลูก ได้แก่ ลูกอมไม่ลึก ลูกมีสายใต้ลิ้นสั้นตึง ลูกเพดานสูง
ท่อนมตัน เกิดจากการระบายน้ำนมน้อยกว่าการสร้างน้ำนม เช่น ลูกนอนยาว หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อเข้าไปในท่อน้ำนมจากหัวนมแตก เมื่อมีการจิ้มสะกิด หรือเจาะหัวนม กรณีที่ท่อน้ำนมตันจากการระบายน้ำนมที่ไม่สมดุลย์ สามารถระบายให้ออกภายใน 48 ชั่วโมง โดยการทำ Reverse pressure softening ตามด้วยการบีบระบายน้ำนมและให้ลูกช่วยดูด ท่อน้ำนมตันก็จะดีขึ้น หากเกิดจากการติดเชื้อ เต้านมแดง มีไข้ ควรพบแพทย์ เพื่อได้รับยาปฏิชีวนะ ไม่ให้เกิดเป็นเต้านมเป็นฝี
เต้านมอักเสบ เป็นก้อน เกิดจากการบาดเจ็บ และติดเชื้อในท่อน้ำนม และ/หรือ หัวนม ควรพบแพทย์ เพื่อได้รับยาปฏิชีวนะ หลังได้ยาปฏิชีวนะครบ 48 ชั่วโมง อาการเจ็บเต้านมจะหายไป น้ำนมจะลดลง 5-7 วัน ก้อนที่เกิดจากเต้านมอักเสบ ใช้เวลา 3-8 สัปดาห์ ก้อนจะค่อยๆยุบลง
เรียบเรียงโดย : คุณ ศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ
ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง(APN) สาขาการพยาบาลเด็ก
Center of Special Expertise in Lactation Clinic: Breastfeeding Sick Babies Center
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี