โดยธรรมชาตินั้น น้ำนมจะถูกผลิตอยู่ตลอดเวลา โดยความเร็วของการผลิตนั้นจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาว่างของเต้านม คือหมายความว่ายิ่งแม่ให้ลูกดูดนมออกไปมากเท่าไร น้ำนมก็จะถูกกระตุ้นให้ผลิตเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งการให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี จะช่วยให้น้ำนมมาเร็วและเพียงพอต่อความต้องการของลูก คุณแม่สามารถเริ่มต้นฝึกลูกดูดนมแม่โดยใช้เทคนิค 3 ดูด คือ
ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี เป็นเทคนิคที่สนับสนุนให้แม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ค่ะ ซึ่งประกอบไปด้วย ดูดเร็ว คือ ให้ลูกดูดนมแม่ทันทีหลังคลอด โดยถ้าคลอดในโรงพยาบาล ลูกควรได้ดูดนมแม่บนเตียงคลอดทันทีภายใน ๑ ชั่วโมงหลังคลอด ซึ่งหมายถึงหลังลูกเกิด คุณหมอคุณพยาบาล จะตัดสายสะดือ ลูกก็จะร้องโดยอัติโนมัติและหายใจ คุณหมอคุณพยาบาลจะรีบเช็ดคราบน้ำคร่ำให้แห้งแล้วอุ้มลูกให้แม่โอบกอดเนื้อแนบเนื้อ (แม่ลูกไม่มีเสื้อผ้าขวางกลางแต่มีผ้าห่มคลุมกันหนาวอยู่ด้านนอก ในระยะหลังเกิด 40 นาที- 1 ชั่วโมง เป็นระยะเวลามี่ลูกจะตื่นตัวมากที่สุด การได้ดูดจะเป็นการกระตุ้นสัญชาติญาณการดูดนมแม่ของทารกและส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งจะกระตุ้นกระบวนการสร้างน้ำนม
ดูดบ่อย คือให้ลูกดูดนมแม่บ่อยทุก ๒-๓ ชั่วโมงหรือทุกครั้งที่ลูกต้องการ ไม่ต้องกังวลใจกับการกำหนดเวลาให้ลูกกินหรือหยุด ลูกอิ่มลูกจะคายหัวนมแม่ออกมาเอง กรณีลูกที่คลอดก่อนกำหนด ในระยะเดือนแรกอาจจำเป็นต้องปลุกลูกดูดนม ถ้าลูกนอนนานยาวเกิน ๔ ชั่วโมง ซึ่งยอมให้นอนนานถึง 4 ชั่วโมงได้เพียงครั้งเดียวใน ๒๔ ชั่วโมง แต่หลัง ๑ เดือน ไม่จำเป็นต้องปลุกลูกอีก
ดูดถูกวิธี คือ ช่วยให้ลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธี โดยต้องถูกต้องทั้งท่าอุ้มและวิธีการดูดของลูก ที่สำคัญ คือลูกอมหัวนม และลานนมได้ลึก แม่เรียนรู้วิธีส่งหัวนม ลานนมเข้าปากลูก อุ้มลูกถูกท่า แม่ไม่ต้องกลัวลูกหายใจไม่ออก เพราะหากแม่อุ้มลูกให้นมถูกท่า ลูกจะดูดนมแม่แบบคางชิดเต้า จมูกเชิด และต้องพยายามให้ลูกดูดจนเกลี้ยงเต้ามากที่สุดเท่าที่ได้ กล่าวคือใน 1 มื้อ แม่อาจให้ลูกดูดเต้าเดียวและมื้อต่อไปค่อยดูดอีกเต้า ทั้งนี้ในระยะแรกๆ โดยเฉพาะระยะ 10 วันแรก ซึ่งในช่วง 3-4 วันแรกน้ำนมยังเป็นหัวน้ำนมทอง (โคลอสตรัม) ควรกระตุ้นให้ลูกดูดทั้ง ๒ เต้า เพื่อกระตุ้นฮอร์โมนโปรแลคตินให้ทำหน้าที่ดี ประมาณหลัง ๑๐ วันไปแล้วน้ำนมจะเข้าสู่การสร้างน้ำนมระยะที่ 3 น้ำนมจะเริ่มมีการแบ่งเป็นนมส่วนหน้าและส่วนหลัง ซึ่งนมส่วนหน้าจะหน้าใสกว่ามีปริมาณน้ำตาล แลคโตสมากกว่าน้ำนมส่วนหลังที่มีไขมันมากกว่า จึงเน้นให้ดูดหมดเต้า ดูดให้เกลี้ยงเต้าในแต่ละครั้ง เพื่อให้ได้รับน้ำนมครบส่วน ถ้าลูกดูดไม่หมดในมื้อนี้ มื้อหน้าก็ให้ดูดซ้ำเต้าเดิม แล้วจึงเปลี่ยนเต้า ถ้ามีอาการคัดเจ็บข้างที่ยังไม่ได้ดูดก็อาจต้องบีบน้ำนมอีกข้างออกได้บ้าง
การดูดนมอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องช่วยแม่ตั้งแต่ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี จะช่วยให้ลูกได้รับนมแม่ได้เร็ว ได้มากเพียงพอ และป้องกันแม่หัวนมเจ็บ หัวนมแตกได้ค่ะ เมื่อคุณแม่สามารถให้นมแม่ได้อย่างมีความสุขนั้นแน่นอนว่าลูกน้อยก็จะมีความสุขไปด้วยค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนค่ะ
เรียบเรียงโดย : คุณ ศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ
ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง(APN) สาขาการพยาบาลเด็ก
Center of Special Expertise in Lactation Clinic: Breastfeeding Sick Babies Center
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี