ปัญหานมแม่ส่วนใหญ่มักเกิดจากการให้นมผิดท่า เมื่อแม่อยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้อง จะส่งผลให้ลูกอมลานนมไม่ลึกพอ นมไหลเข้าปากลูกได้น้อย หัวนมแม่แตก ทำให้เกิดความเครียด และอาจทำให้น้ำนมหยุด หรือไม่เพียงพอสำหรับลูก ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ไม่สิ้นสุด การเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องในท่าการให้นมแต่แรกนั้นจะทำให้ตัดวงจรปัญหาเรื่องนมแม่ ซึ่งคุณแม่อาจเริ่มต้นทำความเข้าใจและฝึกฝนได้โดยคำแนะนำดังนี้ค่ะ
1.เข้าใจกลไกการดูดนมและการช่วยเหลือทารกให้ดูดนม ทารกมีกลไกการดูดนมจากเต้า แตกต่างจากการดูดนมจากขวดผ่านจุกนม กล่าวคือ การดูดนมแม่จากเต้า เมื่อคุณแม่ส่งหัวนมแตะริมฝีปากลูก ลูกจะอ้าปาก ตามด้วยคุณแม่กอดลูกเข้ามาสู่เต้านม หัวนมแม่จะผ่านเข้าสู่ปากทารก ทารกจะใช้เหงือกงับและใช้ลิ้นช่วยดูดหัวนม ลานนมคุณแม่เข้าไปผ่านไปที่เพดานแข็ง การช่วยเหลือทารกให้ดูดนมแม่ได้ในนาทีแรกของชีวิตนั้นคุณแม่ควรประคองเต้าเพื่อส่งหัวนม ลานนมเข้าสู่ปากทารกให้ลึกพอ จนผ่านเพดานแข็งไปสู่จุดที่เป็นรอยต่อของเพดานแข็งและเพดานอ่อนในช่องปากในขณะเดียวกันคุณแม่ควรเรียนรู้ที่จะอุ้มลูกให้ลูกสามารถดูดนมได้ลึกพอ จนคุณแม่ไม่เจ็บหัวนมและรู้สึกได้ว่าลิ้นลูกอยู่บริเวณลานนม ทารกจะทำลิ้นเป็นคลื่นเพื่อดูดนมแม่และใช้ลิ้นรักษาหัวนมไว้ในช่องปาก ในขณะที่ลูกพักการดูดเพื่อหายใจ ลูกจะใช้ลิ้นรักษาหัวนมในช่องปากไม่ให้หลุด ทารกจะใช้เวลาประมาณ 45 วันในการเรียนรู้การดูดนมแม่ อีกทั้งแม่ก็จะเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมๆกับลูกอีกด้วยนะคะ
ในขณะที่การดูดนมจากขวดผ่านจุกนมนั้นทารกมีกลไกวิธีการดูดไม่เหมือนการดูดนมจากเต้า โดยจุกนมมีความยาวและแข็งพอที่จะกระตุ้นการดูดของทารก เพียงจุกนมสัมผัสลิ้นหรือเพดานก็กระตุ้นให้ทารกเกิดกลไกการดูดได้ เมื่อทารกดูดนมจากขวด ทารกจะหดลิ้น เพื่อให้เกิดสุญญากาศในการดึงน้ำนมจากขวดนม เมื่อทารกจะพักเพื่อหายใจ ทารกจะปล่อยลิ้นและไม่ดูด จึงจะพบอากาศออกมาในขวดนม เช่นนี้เองหากทารกผ่านการดูดจากขวดมาก่อนการดูดจากเต้า จะทำให้ทารกจะร้องไห้เพราะจังหวะพักหายใจนั้นทารกเคยชินกับการปล่อยลิ้นมาก่อน แต่การดูดนมจากเต้าทารกต้องใช้ลิ้นรักษาหัวนมและลานนมไว้ในช่องปาก การดูดนมแม่จากเต้าและการดูดนมจากขวดผ่านจุกนมจึงต่างกัน
2.เข้าใจท่าอุ้มของแม่และการอมลึกของทารก เมื่อพูดถึงการดูดนมแม่จากเต้าเรื่องที่เกี่ยวข้องคือท่าอุ้มและการอมลึกของลูก ซึ่งท่าอุ้มที่ถูกต้องนั้น ลูกควรจะหันหน้าเข้าหาเต้า คอไม่บิด (ติ่งหู ไหล่ สะโพก เป็นเส้นตรง) ท้องแม่ท้องลูกชนกัน ลำตัวหลังลูกได้รับการประคอง. การดูดนมที่ถูกต้องนั้นสังเกตได้จากปากของลูกที่อ้ากว้าง (ให้ดูเมื่อลูกอมหัวนม และลานนม หากอมได้ลึกแล้ว จะเห็นลูกอ้าปากว้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่จำเป็นต้องอ้าปากกว้างตั้งแต่แรก) ปากบนบานเหมือนปากปลา ริมฝีปากล่างปลิ้นออก คางชิดเต้า จมูกเชิดค่ะ
2 เคล็ดไม่ลับกับการฝึกลูกเข้าเต้าอย่างเข้าใจในหนึ่งนาทีแรกของชีวิต ทำได้ไม่ยากหากเราเข้าใจและเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกนะคะ ขอเอาใจช่วยคุณแม่คนเก่งทุกคนค่ะ
https://youtu.be/Kumxmc6CLq0
เรียบเรียงโดย : คุณ ศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ
ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง(APN) สาขาการพยาบาลเด็ก
Center of Special Expertise in Lactation Clinic: Breastfeeding Sick Babies Center
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี