การให้นมแม่นับเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งของร่างกาย เมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุครรภ์และอายุลูกน้อยนั้นนับเป็นการเตรียมตัวคุณแม่เพื่อเข้าสู่การให้นมแม่ตามธรรมชาติค่ะ เรามาทำความรู้จักกระบวนการในการสร้างน้ำนมของคุณแม่ด้วยกันนะคะ
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ ๑๖-๒๒ สัปดาห์ จะเริ่มมีการสร้างน้ำนม เป็นการสร้างน้ำนมโดยกลไกของฮอร์โมนจากระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย นับเป็นขบวนการระยะแรกในการสร้างน้ำนม ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Lactation state endocrine ( hormonal) control ทันทีที่คลอดจะเข้าสู่การสร้างน้ำนมในระยะที่สอง นับตั้งแต่หลังคลอดจนถึงหลังคลอด ๒-๓ วัน เต้านมเริ่มคัดตึง น้ำนมระยะนี้จะมีความเข้มข้นของสารอาหาร สารภูมิคุ้มกัน วิตามินเกลือแร่ มากเป็นพิเศษ จนเรียกว่าน้ำนมทอง ยังไงก็ต้องให้ลูกได้รับ ด้วยความที่มีสารภูมิคุ้มกันมาก จึงเปรียบว่าเป็นการให้ลูกได้รับวัคซีนแรก ระยะนี้ระดับฮอร์โมน Prolactin จะมีระดับสูงสุดทำหน้าที่สร้างน้ำนมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ฮอร์โมน Progesterone ที่ยับยังการคัดหลั่งลดระดับลง(ตามภาพ) ถ้าคุณแม่ให้ลูกได้ดูดนมแม่ตั้งแต่ในชั่วโมงแรกหลังเกิด จะเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมเริ่มขับเคลื่อนออกมา แม้อาจออกมาเป็นสายน้ำนมจริงในวันที 1-2-3 หลังเกิด ก็จะทำให้ได้รับน้ำนมทอง เร็ว เมื่อเข้าวันที่ ๓-๔ ถ้าพยายามให้ลูกดูดกระตุ้นให้มีการระบายน้ำนมออกจากเต้าได้ ร่างกายแม่จะเริ่มผลิตน้ำนมโดยอัตโนมัติไม่ว่าลูกจะดูดหรือไม่ดูดนมแม่ก็ตาม เรียกว่าภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด จะเข้าสู่การการสร้างน้ำนมระยะที่สาม คือการผลิตน้ำนมขึ้นอยู่กับการนำน้ำนมออกจากเต้านม คือการให้ทารกดูดนมแม่จากเต้า ยิ่งลูกดูดออกมาก น้ำนมยิ่งจะสร้างมาก หรือ ยิ่งดูดบ่อยก็ยิ่งกระตุ้นการสร้างน้ำนม
จะเห็นว่า แม้ฮอร์โมนจะมีผลต่อการสร้างน้ำนม แต่มีผลน้อยกว่าการระบายน้ำนมออกจากเต้า กลไกการให้ลูกดูดนมให้มากและนานพอ จะทำให้น้ำนมถูกระบายออกจากเต้า จะช่วยขบวนการสร้างน้ำนมอย่างเป็นธรรมชาติ
ดังนั้นการเริ่มต้นที่ดี คือการส่งเสริม สนับสนุนให้ทารกได้ดูดนมแม่ตั้งแต่อยู่บนเตียงคลอด ให้แม่ลูกได้อยู่ด้วยกันภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังคลอด และให้ ๒-๓ วันหลังคลอดในโรงพยาบาลลูกได้ดูดนมแม่ ไม่เสริมนมผสมโดยไม่จำเป็น เน้นให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าและแม่ควรได้รับการพักผ่อน เพื่อให้ลูกได้ดูดนมแม่ทุก ๒-๓ ชั่วโมงหรือทุกครั้งที่ลูกต้องการ
เมื่อไหร่จะปั๊มนมดี
คำตอบ คือเมื่อลูกไม่สามารถดูดนมจากเต้าแม่ได้ ถ้าคิดง่ายๆ ก็คือ กรณีที่ต้องแยกลูกแยกแม่ อาจเนื่องจาก แม่ป่วยหรือลูกป่วย หรือกรณีที่ลูกไม่มีแรงดูด เช่น ทารกแรกเกิดป่วย ทารกคลอดก่อนกำหนดการปั๊มนมสามารถใช้มือกระตุ้นปั๊มนมออกได้ หรือจะจากการกระตุ้นโดยการใช้เครื่องปั๊มนม
ต้องคิดเสมอว่า ถ้าเราไม่ฝึกให้ลูกดูดนมจากเต้าแม่ให้เป็น ทารกจะขาดโอกาสเรียนรู้ แม่เองก็จำเป็นต้องเรียนรู้การให้นมลูก คือเสียโอกาสดีๆทั้งคู่
กรณีทารกแรกเกิดป่วย แนะนำให้แม่กระตุ้นการบีบน้ำนมหรือปั๊มนม ภายใน ๒ ชั่วโมงหลังคลอดในแม่ที่คลอดปกติหรือ ๔ ชั่วโมงหลังคลอดในแม่ที่ผ่าคลอดและทุก ๒-๓ ชั่วโมงหรือวันละ ๘ ครั้ง
การปั๊มนมตั้งแต่แรกเกิดจำเป็นหรือไม่
จำเป็นแน่นอน ถ้าไม่มีการสนับสนุนให้ลูกได้ดูดนมแม่ทุกครั้งที่ลูกต้องการ เพราะถ้าไม่ทำวงจรการสร้างน้ำนมก็จะถูกตัดตอนไป ก่อนคลอดคุณแม่อย่าลืม ต้องบอกคุณหมอ คุณพยาบาลให้ช่วยเราให้ลูกได้ดูดนมจากเต้า ถ้าไม่ได้จริงๆดังกล่าวเราค่อยเริ่มขบวนการปั๊มนม และเลือกใช้ปั๊มด้วยมือ ที่เรียกว่าบีบกระตุ้นสร้าวน้ำนม ก่อนที่จะคิดถึงการใช้เครื่องปั๊ม
กรณีแม่ทำงาน สามารถเริ่มบีบน้ำนมเก็บหลังให้ลูกดูดนมแม่จากเต้า โดยในเดือนแรกเป็นการเรียนรู้จักการให้นมของแม่และลูก หลังให้นมแม่ควรได้พักผ่อน เพื่อให้ร่างกายสร้างน้ำนม หลัง ๑ เดือนน้ำนมแม่มาอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ คุณแม่สามารถเริ่มบีบเก็บน้ำนมได้
เมื่อได้เข้าใจกระบวนการสร้างน้ำนมกันแล้ว คุณแม่คงมีคำตอบเพื่อตัดสินใจเรื่องการเริ่มต้นปั๊มนมมากขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ เอาใจช่วยคุณแม่ทุกท่านค่ะ
เรียบเรียงโดย : คุณ ศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ
ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง(APN) สาขาการพยาบาลเด็ก
Center of Special Expertise in Lactation Clinic: Breastfeeding Sick Babies Center
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี