น้ำหนักแรกคลอดของทารกแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอาหารที่ได้รับตั้งแต่อยู่ในครรภ์ กรรมพันธุ์ และสุขภาพของแม่ แต่สิ่งที่สำคัญคือหลังจากที่คลอดออกมาแล้วลูกมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไรก็ตามเด็กในช่วงวัยเดียวกันอาจมีน้ำหนักที่แตกต่างกันได้ ซึ่งแน่นอนว่าขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู ทั้งเรื่องโภชนาการ การพักผ่อน การขยับร่างกาย นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องกรรมพันธุ์ของพ่อแม่ เช่น ถ้าพ่อแม่มียีนส์อ้วนง่าย ก็อาจส่งผลให้ลูกน้ำหนักขึ้นได้ง่ายด้วยเช่นกัน
ทารกแรกเกิดหลังคลอด ภายในไม่เกิน 7-10 วัน น้ำหนักต่ำกว่าแรกเกิด ไม่เกินร้อยละ 10 โดยวันที่ 7-10 น้ำหนักควรเท่าแรกเกิด ทารกบางคนอาจน้ำหนักขึ้นหลังวันที่ 5 หรือวันที่ 6 หลังคลอด หลังจากนั้น น้ำหนักจะขึ้นวันละ 20-30 กรัมต่อวัน จนกระทั่งทารกอายุ ๔ เดือน
อายุ ๔-๖ เดือน น้ำหนักขึ้นเป็น ๒ เท่าของแรกเกิด หรือเดือนละ ๒๕๐-๕๐๐ กรัมต่อเดือน
อายุ ๑ ปี น้ำหนักเป็น ๓ เท่าของแรกเกิด ประมาณ ๙-๑๐ กิโลกรัม
ทารกแรกเกิด น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นได้ โดยทารกดูดนมแม่ได้ตามที่ต้องการ โดย ทารกแรกเกิดถึง ๓ เดือน ได้รับนมแม่วันละ ๘ มื้อ
๓-๖ เดือน ได้รับนมแม่วันละ ๖ มื้อ ๖ เดือน- ๑ ปี ได้รับนมแม่วันละ ๔ มื้อ โดยหลัง ๖ เดือน ให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัย ทารกอายุ ๖ เดือนได้รับอาหารตามวัย ๑ มื้อ อายุ ๘ เดือน ได้รับอาหารตามวัย ๒ มื้อ อายุ ๙ เดือน ได้รับอาหารตามวัย ๓ มื้อ แต่ยังคงได้รับน้ำนมแม่จนถึงขวบปีแรก หลัง ๑ ปียังคงได้รับนมแม่จนถึง ๒ ปีหรือมากกว่า
โดยมาตรฐานแล้วส่วนสูงของเด็กแรกเกิดจะอยู่ที่ประมาณ 50 ซม. และเพิ่มขึ้นตามลำดับดังนี้
• แรกเกิด – 6 เดือน เด็กชายควรสูงขึ้นอย่างน้อย 17 ซม. เด็กหญิงควรสูงขึ้นอย่างน้อย 16 ซม.
• อายุ 6-12 เดือน ควรสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 8 ซม. ทั้งเด็กชายและหญิง
• อายุ 1-2 ปี เด็กชายควรสูงขึ้น อย่างน้อย 10 ซม. เด็กหญิงควรสูงขึ้นอย่างน้อย 11 ซม.
• อายุ 2-5 ปี ควรสูงขึ้นประมาณ 6-8 ซม. ต่อปี ทั้งเด็กชายและหญิง
• อายุมากกว่า 5 ปี หรือเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ควรสูงขึ้น 6 ซม. ต่อปี หากสูงขึ้นน้อยกว่า 5 ซม. ต่อปีถือว่าต่ำกว่าปกติ ทั้งเด็กชายและหญิง (แม่ควรหาสาเหตุเพิ่มเติม)
นอกจากนั้นแล้วยังมีการวัดเส้นรอบศีรษะของทารก เพื่อดูการเติบโตของสมอง เส้นรอบศีรษะโดยประมาณของเด็กปกติ มีดังนี้
• แรกเกิด 35 ซม.
• อายุ 3-4 เดือน 40 ซม.
• อายุ 9-12 เดือน 45-46.5 ซม.
• อายุ 2 ปี 49 ซม.
• อายุ 3 ปี 50 ซม.
โดยเกณฑ์มาตรฐานของการเพิ่มขึ้นของเส้นรอบศีรษะ ในระยะ 6 เดือนแรก ขนาดรอบศีรษะจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เดือนละ 1.5 ซม. ส่วนในระยะ 6 เดือน ขนาดรอบศีรษะจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เดือนละ 0.5 ซม. ถัดจากนั้นในปีที่ 2 ขนาดรอบศีรษะจะมีขนาดใหญ่ขึ้นปีละ 2-3 ซม. ปีที่ 3 ขนาดรอบศีรษะจะมีขนาดใหญ่ขึ้นปีละ 0.5 – 2 ซม. และเมื่อเด็กอายุระหว่าง 3 – 10 ปี ศีรษะจะมีขนาดใหญ่ขึ้น 1 ซม. ในทุกๆ 3 ปี
หากแม่สังเกตเห็นความผิดดังต่อไปนี้
• ศีรษะโตเร็ว หรือช้ากว่าปกติ,
• ศีรษะมีรูปร่างที่แปลกไป,
• เส้นรอบศีรษะไม่ได้สัดส่วนกับอายุ เช่น เมื่อพล็อตกราฟแล้วต่ำกว่าเส้นล่าง (น้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 3) เรียกว่าศีรษะเล็ก (microcephaly) หรือเมื่อพล็อตกราฟแล้วสูงกว่าเส้นบน (มากกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 97) เรียกว่าศีรษะโต (macrocephaly)
• เส้นรอบศีระษะไม่ได้สัดส่วนกับน้ำหนักและส่วนสูง ซึ่งไม่ควรอยู่ในเปอร์เซ็นไทล์เดียวกัน ไม่ควรต่างกันเกิน 15 เปอร์เซ็นไทล์
แม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยต่อไป
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย