ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลก และ องค์การยูนิเซฟ สนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นระยะเวลา 6 เดือน แต่น่าเสียดายที่ในสภาพปัจจุบัน มีคุณแม่เป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เพราะติดอุปสรรคหลายอย่าง อาทิ การไม่ได้รับองค์ความรู้ที่เพียงพอจากบุคลากรทางการแพทย์ ทัศนคติของคนรอบข้าง รวมถึงปัญหาที่คุณแม่ต้องกลับไปทำงานหลังจากคลอดแล้ว ดังนั้นจึงทำให้แม่ที่ทำงานไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนลูกอายุถึง 6 เดือน
กรณีที่แม่กลับไปทำงานหลังจากลาคลอดนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเต็มที่ คุณแม่จะสามารถเลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่ในช่วงระยะเวลาที่ลาคลอดตามกฎหมาย แต่เมื่อแม่กลับไปทำงานจะไม่สามรถให้ลูกดูดนมแม่ในช่วงเวลากลางวันจึงเป็นสาเหตุให้น้ำนมแม่แห้งไปในที่สุด แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการรณรงค์ให้คุณแม่บีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกกินระหว่างที่แม่ออกไปทำงานก็ตาม แต่ลักษณะงานบ้างอย่างไม่อำนวยต่อการให้คุณแม่ทำ รวมถึงภาวะความเครียดที่เกิดจากากรทำงานยังส่งผลให้น้ำนมแม่น้อยลงและแห้งไปในที่สุด
คุณแม่จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องสิทธิต่างๆ ของคุณแม่ที่ทำงาน เพื่อที่จะทำให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเต็มที่ค่ะ
• สิทธิการลาคลอด ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานใหม่ระบุไว้ว่า ให้แม่มีสิทธิ์ลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 98 วัน โดยวันลาตามมาตรานี้ จะรวมถึงการลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดด้วย และให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย
• โดยแม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างปกติ แต่ไม่เกิน 45 วัน
• ตามพระราชบัญญัติ ประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดให้ลูกจ้างผู้หญิงได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนในการลาคลอดอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง มีการกำหนดระยะเวลาจ่าย 90 วัน
• สำหรับสิทธิประกันสังคมยังมีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตร รวมถึงเงินสงเคราะห์บุตร
• พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ฝส.2541 มาตรา 42 ยังกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์สามารถขอนายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราว หากแพทย์เห็นว่าลูกจ้างไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้ แต่ไม่ได้คุ้มครองคุณแม่ที่ให้นมลูก
• แต่ถ้าคุณแม่ที่ไปทำงานก่อนครบกำหนด 98 วันนั้น หนทางที่จะทำให้คุณแม่เลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่และอย่างต่อเนื่อง คือ คุณแม่หาเวลามาให้นมลูกระหว่างพักงาน (หากมีสถานที่รับเลี้ยงเด็กใกล้ที่ทำงาน) หรือ ให้แม่ได้มีโอกาสพักการทำงานเป็นครั้งคราวเพื่อบีบน้ำนมเก็บตุนไว้ให้ลูกดื่มระหว่างที่แม่ออกมาทำงานนอกบ้าน
ดังนั้นคุณแม่ทำงานควรเรียนรู้สิทธิต่างๆ ที่ได้รับจากที่ทำงานหรือจากหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของการลาคลอด สิทธิประกันสังคม และสิทธิในเรื่องอื่นๆ เรื่องสำคัญเหล่านี้คุณแม่อย่ามองข้ามเด็ดขาดนะคะ ในทำนองเดียวกันนั้นสถานประกอบการที่อนุญาตให้หญิงทำงานที่อยู่ในระหว่างเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้พักงานเป็นการชั่วคราวเพื่อไปให้นมลูกหรือบีบเก็บน้ำนมได้ในแต่ละวัน ก็จะส่งผลดีไม่เฉพาะแต่สุขภาพร่างกายของลูกและแม่เท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสังคมในระยะยาวอีกด้วยค่ะ
เรียบเรียงโดย พญ. ยุพยง แห่งเชาวนิช
สูตินรีแพทย์ รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย