ในช่วงเวลาหนึ่งของประเทศไทย มีการตื่นตัวเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมถึงมีการแบ่งปันนมแม่กันเองในสื่อ social media ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในเรื่องการติดเชื้อที่มากับสารคัดหลั่ง คือน้ำนมแม่
ปัจจุบัน พ่อแม่มีความรู้และตระหนักเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น รวมถึงตระหนักเรื่องไม่ควรรับนมแม่บริจาคกันเองหรือแบ่งปันนมแม่คนอื่นมาให้ลูกตัวเอง เพราะการรับบริจาคน้ำนมแม่คนอื่นมาให้ลูกตัวเองก็มีโอกาสแบ่งปันการติดเชื้อแม่คนอื่นมาสู่ลูกตัวเองด้วยทางน้ำนม การให้นมแม่กับลูก นอกจากน้ำนมแม่จะเป็นอาหารที่ดีที่สุดแล้ว น้ำนมแม่ยังมาพร้อมกับภูมิคุ้มกันและอ้อมกอดที่แสนอบอุ่นให้กับลูก เหนือสิ่งอื่นใดที่คาดไม่ถึง น้ำนมแม่ยังเป็นมรดกสุขภาพให้กับลูกอีกด้วย ทารกที่ได้รับน้ำนมแม่จะมีสุขภาพกายที่แข็งแรง รวมถึงลดอัตราการเกิดโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไต เก๊าท์ ฯลฯ ให้ลดลง ซึ่งหมายรวมถึงการดูแลสุขภาพการที่เหมาะสมตามวัยด้วย
ในกลุ่มที่รับนมแม่บริจาคหรือแบ่งปันนมแม่จากคนอื่น ให้ระลึกถึงการรับการติดเชื้อของคนอื่นผ่านทางน้ำนมแม่มาสู่ลูกอันเป็นที่รักของตัวเอง ได้แก่ การติดเชื้อตับอักเสบบี การติดเชื้อตับอักเสบซี โดยอาจแสดงการติดเชื้อ เมื่อเจริญวัยเข้าสู่วัยกลางคนหรือวัยสูงอายุด้วยโรคมะเร็งตับ หรือการได้รับเชื้อ CMV; Cytomegalovirus ซึ่งมักแสดงการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลือง เกิดต่อมน้ำเหลืองโต อักเสบเป็นฝี เชื้อไปที่ตา มีผลต่อการมองเห็น ติดเชื้อที่หูมีผลต่อการได้ยินหรือไปติดเชื้อที่สมอง เรียกว่ามีอันตรายต่อทุกอวัยวะของลูกรัก พบว่าทารกที่ติดเชื้อ CMV มีผลต่ออวัยวะต่างๆ มีอันตรายถึงชีวิตและพิการได้ หรือเชื้อ HTLV1, HTLV2 ที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวก็ถ่ายทอดผ่านทางน้ำนมได้ นอกเหนือจากการติดเชื้อ HIV หรือซิฟิลิส
ดังนั้น ควรกลับมาทบทวนว่าทำอย่างไรให้นมเราเพียงพอต่อลูกของเรา โดยแม่สามารถสร้างน้ำนมให้เพียงพอกับลูก ดังนี้
๑. ให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าใน ๔๕ วันแรก โดยไม่มีการเสริมนมผสมหรือบีบน้ำนมแม่ใส่ขวดหรือป้อนนมแม่ด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การดูดนมแม่จากเต้า
๒. ขณะที่แม่ให้ลูกดูดนมแม่ แม่ต้องไม่เจ็บหัวนม และรู้สึกว่าลิ้นอยู่ใต้ลานนม หากให้นมแม่โดยการให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าแล้วแม่เจ็บหัวนม รู้สึกน้ำนมไม่เพียงพอ ควรได้รับการประเมินสายใต้ลิ้นว่าสั้นตึง ต้องได้รับการแก้ไขหรือไม่ หากยังเจ็บหัวนม ควรปรึกษาหรือเข้าไปรับบริการที่คลินิกนมแม่ใกล้บ้าน เพื่อประเมินน้ำนม ประเมินท่าอุ้มให้นมของแม่ ประเมินช่องปากของลูก ประเมินการดูดนม
การเริ่มต้นให้นมแม่ที่ดีคือ การศึกษาเรื่องนมแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ เริ่มต้นที่ดีตั้งแต่หลังคลอด ได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุนที่ดีจากโรงพยาบาลที่คลอด และที่สำคัญคือแม่และครอบครัวรีบปรึกษาคลินิกนมแม่ เพื่อให้มีน้ำนมเพียงพอ ไม่รับบริจาคนมแม่คนอื่นมาให้ลูกตนเองเด็ดขาด
ธนาคารนมแม่ เปิดให้บริการเพื่อให้ทารกแรกเกิดป่วยได้รับนมแม่ ดำเนินการรับบริจาคน้ำนมแม่ โดยแม่ต้องได้รับการตรวจเลือด เพื่อคัดกรองโรค HIV ซิฟิลิส ตับอักเสบบี ตับอักเสบซี CMV, HTLV1, HTLV2 และนำน้ำนมแม่ที่แม่ผ่านคัดกรองแล้วว่าผลเลือดปกติ ไม่เป็นพาหะ ไปทำการพลาสเจอร์ไรส์ และนำนมที่ผ่านการทำพลาสเจอร์ไรส์ ไปตรวจหาเชื้ออีกครั้งหนึ่ง ว่าไม่มีการเล็ดลอดของเชื้อแบคทีเรีย ที่เชื้อมักเกิดจากการที่ไม่ได้ล้างนึ่งอุปกรณ์ทุกครั้ง มีผลให้ทารกท้องเสียเป็นอันตรายกับชีวิตได้ มักพบว่านมที่รับบริจาคกันเอง มักไม่ได้ล้างนึ่งอุปกรณ์ทุกครั้งเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ควรรับนมแม่บริจาคกันเอง ไม่แบ่งปันนมคนอื่นมาให้ลูก
ศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง(APN) สาขาการพยาบาลเด็ก
Center of Special Expertise in Lactation Clinic: Breastfeeding Sick Babies Center
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี