ปัญหาที่ชวนกังวลใจของคุณผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตรหรือที่เป็นคุณแม่เรียบร้อยแล้วนั้น คุณหมอพบว่า คุณแม่หลายท่านมีความกังวลว่า ทำไมผิวพรรณความงามดูลดลง ใบหน้าหมองคล้ำ เราจะดูแลตัวเองให้สวยงามตลอดการตั้งครรภ์และหลังคลอดแล้วได้อย่างไร ขอให้คุณแม่และว่าที่คุณแม่ทุกท่านลองนึกภาพตามนะคะ เหมือนเราซื้อรถยนต์มาหนึ่งคัน ถ้าเราใช้รถ ดูแลรถเข้าศูนย์เช็คสภาพตามวงรอบอย่างสม่ำเสมอ รถเราก็สุขภาพดี สวยงาม ไม่เก่าเร็วเมื่อเทียบกับรถที่ขาดการดูแล ดังนั้นการให้ความสำคัญในการดูแลผิวพรรณตั้งแต่ก่อนวางแผนตั้งครรภ์ย่อมสำคัญที่สุดเลยค่ะ เพราะเมื่อเราตั้งครรภ์แล้ว หรือแม้กระทั่งหลังตั้งครรภ์มักจะมีข้อควรระวังและข้อห้ามในการทำหัตถการเสริมความงามบางอย่าง ดังนั้นเราจึงควรเต็มที่ตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์เพื่อเป็นต้นทุนผิวดีใน ช่วง 1-2 ปีตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด
ก่อนตั้งครรภ์ทำอะไรได้บ้าง ขอแนะนำให้ทุกท่านใช้ครีมกันแดด เพราะจะช่วยปกป้องผิวไม่ให้แก่ไวจากแสงแดด ส่วนจะเลือกรูปแบบใดนั้น เดี๋ยวมีหลายชนิดมาก สามารถเลือกได้ตามสภาพผิว แต่อย่าลืมว่า เมื่อได้ครีมกันแดดที่ถูกใจแล้ว ต้องทาในปริมาณที่เหมาะสม คือ 2 ข้อนิ้ว ทาทั่วหน้าค่ะ ไม่เช่นนั้นแล้วประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจะไม่ได้ตามที่ข้างหลอดครีมกันแดดเขียนไว้นะคะไม่ว่าจะ SPF เยอะเท่าไหนก็ตาม นอกจากนี้ยังสามารถใช้เครื่องมือต่างๆกระตุ้นคอลลาเจนใต้ผิว เช่นการใช้คลื่นอัลตร้าซาวน์ความเข้มข้นสูง คลื่นความถี่วิทยุพลังงานสูง การฉีดสารเติมเต็ม หรือการฉีดโบทูลินั่ม ท๊อกซินก็สามารถทำได้
ขอให้คุณแม่ทุกท่านนึกไว้เสมอว่าข้อมูลผลกระทบของการเสริมความงามในคุณแม่ตั้งครรภ์และคุณแม่หลังคลอดที่ให้นมบุตรนั้นยังมีจำกัด อะไรที่มีแนวโน้มที่จะเสี่ยง ชะลอการตัดสินใจได้และไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องทำโดยทันทีคุณแม่ทุกท่านควรจะชะลอเวลาการเสริมความงามไปก่อน เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
ในต่างประเทศนั้น หญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในร้านทำผมต้องสูดดมเคมีจากการทำสีผมมีคำแนะนำ
ว่า นอกเหนือจากการใส่ถุงมือแล้ว ควรทำงานไม่เกิน 35 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ ในห้องที่มีอาการถ่ายเทสะดวก และกรณีคุณแม่ที่ต้องการทำสีผม แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าจะมีรายงานการศึกษาว่ากลิ่นจากการทำสี และสีที่ย้อมผมนั้นไม่มีการส่งผ่านรกไปยังลูกน้อย
สำหรับการฉีดโบทูลินั่ม ท๊อกซิน แม้ว่าโมเลกุลจะมีขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่านรกได้ แต่ก็มีรายงานการใช้อยู่อย่างจำกัด ในปัจจุบันมีรายงานพบว่า มีเพียง Onabotulinum Toxin ที่มีการเก็บข้อมูลการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ในกรณีที่มีโรคร่วมเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและระบบประสาท ส่วนโบทูลินั่ม ท๊อกซินชนิดอื่นยังไม่มีรายงาน ซึ่งแพทย์ควรชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียและแนะนำคุณแม่ เพราะหากมีกรณีที่มีปัจจัยส่งเสริมใด ทำให้โมเลกุลของยาซึมผ่านทางรกได้ อาจจะเป็นอันตรายทั้งคุณแม่คุณลูกได้ ในส่วนของสารเติมเต็มยังไม่มีรายงานชัดเจนในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร แต่อยากให้ข้อคิดในเรื่องของผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดหลังการฉีดสารเติมเต็ม เช่นการอุดตันของเส้นเลือดหรือการติดเชื้อ ซึ่งนำมาซึ่งความทุกข์ของคุณแม่อีกเช่นกัน
หัตถการผ่าตัดอื่นใด อย่าลืมว่า 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เป็นช่วงที่เด็กกำลังมีการสร้างอวัยวะ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่การตั้งครรภ์ยุติลงได้ หรือบางหัตถการอาจจะทำให้คลอดก่อนกำหนดได้ ในช่วงไตรมาสหลังของการตั้งครรภ์ ดังนั้นหากเป็นหัตถการไม่เร่งด่วน มักจะแนะนำให้ยืดเวลาออกไป ในส่วนของหัตถการผ่าตัดอื่นๆในช่วงหลังคลอดความเจ็บปวดความเครียดของบาดแผล ก็อาจจะทำให้คุณแม่มีการผลิตน้ำนมลดลงได้ ในส่วนของกลุ่มเลเซอร์หรือหัตถการความงาม เช่นการทำเลเซอร์หน้าใส การลอกฝ้าด้วยกรดค่อนข้างปลอดภัยกับคุณแม่ให้นมบุตร แต่ข้อมูลการศึกษายังมีจำกัดในหญิงตั้งครรภ์ และกรณียาทาที่เกี่ยวกับความงาม แนะนำว่าให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจซื้อยามาใช้เอง เพราะยาที่มีส่วนประกอบบางชนิด เช่น กลุ่มยาสิว ยาทาฝ้าบางชนิดมีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ดังนั้นจึงควรให้แพทย์ช่วยปรับยาให้ดีที่สุด
แพทย์หญิง อิสรีย์ จึงสำราญพงศ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน ผ่าตัดผิวหนัง และเลเซอร์ผิวหนัง
Clinical Fellow in Dermatology, Institute of Dermatology
Clinical Fellow in Dermatosurgery , Institute of Dermatology